Wellness Culture ปัจจัยความสำเร็จองค์กรยุคใหม่

มัณฑนา รักษาชัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป (กลาง) ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ขวา) และ ธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด (ซ้าย)

wellness culture วัฒนธรรมการมีสุขภาพดีแบบสุขสมดุล ส่งผลต่อผลิตผลและผลิตภาพขององค์กร ผู้นำรุ่นใหม่ต้องเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมทั้งที่ทำงาน และการใช้ชีวิต

วัฒนธรรมความสุขสมบูรณ์ (wellness culture) ในองค์กร เป็นเรื่องที่หลายบริษัททั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และอยากให้เกิดขึ้นกับองค์กรในปัจจุบัน เพราะเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพใจ และสุขภาพกายให้ครบองค์ประกอบ 8 ด้าน (8 dimensions of wellness) ซึ่งเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนทีม และองค์กรให้สำเร็จอย่างมีพลัง และอย่างยั่งยืน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “LeadingWell Virtual Conference” โดยมีผู้นำและแขกรับเชิญจากทั้งไทย และต่างประเทศมาร่วมแชร์ประสบการณ์ และความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวบุคคล และองค์กร โดยมีทั้งการเสวนาแบบคณะ (panel discussion) และแยกห้องเพื่อพูดคุยตามหัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งหมด 9 หัวข้อด้วยกัน

สำหรับ panel discussion เป็นหัวข้อ “workplace wellness” มีผู้ร่วมเสวนา คือ “มัณฑนา รักษาชัด” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป, “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และ “ธกานต์ อานันโทไทย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด

“มัณฑนา” กล่าวในเบื้องต้นว่าตลอด 2 ปีผ่านมา สลิงชอท กรุ๊ป ตระหนักถึงความสำคัญของ wellness culture และเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับผู้นำผ่านแนวคิด leadership wellness โดยจัดกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น กลุ่ม “รวมพลัง ผู้นำเข้มแข็ง” และรายการ “ผู้นำแข็งแรง” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้บนโลกออนไลน์

สำหรับ wellness culture ไม่ได้เป็นแค่วัฒนธรรมที่เน้นสุขภาพด้านร่างกาย แต่เป็นวัฒนธรรมการมีสุขภาพดีแบบ “สุขสมดุล” คือ รวมทั้งสุขภาพจิตใจ, ความเป็นอยู่ที่เป็นสุข, การคิดที่เป็นสุข และการปฏิบัติที่เป็นสุข

โดย 8 มิติของ wellness ประกอบด้วย

  1. Emotional wellnessหรือ wellness ทางด้านอารมณ์ การเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และจัดการกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. Physical wellnessหรือ wellness ทางด้านร่างกายและสุขภาพ การรักษาสุขภาพร่างกายและมองหาการดูแลสุขภาพร่างกายที่จำเป็น
  3. Spiritual wellnessหรือ wellness ทางด้านจิตใจ การพัฒนาชุดของคุณค่าที่ช่วยให้ผู้นำสามารถมองหาความหมายและจุดมุ่งหมายของชีวิต
  4. Intellectual wellnessหรือ wellness ทางด้านสติปัญญา การเปิดรับกับความคิดใหม่ ๆ และการขยายองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
  5. Social wellnessหรือ wellness ทางด้านสังคม การมีบทบาททางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความรู้สึกสะดวกใจ รวมถึงการสร้างเครือข่ายสนับสนุนตนเอง
  6. Environmental wellness หรือ wellness ทางด้านสิ่งแวดล้อม การมีไลฟ์สไตล์ที่มีความเคารพในสิ่งแวดล้อมรอบตัว
  7. Financial wellnessหรือ wellness ทางด้านการเงิน การมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ด้วยการวางแผนและบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพให้สามารถใช้รูปแบบการใช้ชีวิตได้อย่างสอดคล้อง
  8. Occupation wellness หรือ wellness ทางด้านอาชีพ การมีความสุขในอาชีพการทำงาน ด้วยการมีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถบริหารอารมณ์ ความเครียดตัวเอง และดูแลอารมณ์คนรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“มัณฑนา” อธิบายต่อว่า ปัจจุบันหลายองค์กรกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งผู้นำองค์กรมีบทบาทกำหนดทิศทางนโยบาย และนำพาองค์กรก้าวเข้าสู่ wellness culture

แต่ผู้นำยุคใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยจากงานวิจัยเกี่ยวกับผู้นำและความเครียด พบว่า ผู้นำ 88% บอกว่า งานคือต้นเหตุแห่งความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานในบทบาทผู้นำองค์กร, ผู้นำ 66% เชื่อว่าตนเองเครียดกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และผู้นำ 60% มองว่าองค์กรไม่ได้เตรียมเครื่องมือ หรือวิธีการเพื่อช่วยเหลือการจัดการกับความเครียดในองค์กร

“สลิงชอท กรุ๊ป จึงทำ LeadingWell ให้เป็นโปรแกรมที่เน้นกระบวนการสร้าง wellness culture ในองค์กร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การให้ความรู้ แต่เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำ ในการเป็นต้นแบบในเชิงพฤติกรรม เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่คนในองค์กร ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน เนื่องจากคนในองค์กรมีสุขภาพดี และมีความสุขในการใช้ชีวิต จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น”

ขณะที่ “ดร.รักษ์” เล่าถึงประสบการณ์ว่า ผู้บริหารปัจจุบันมีแนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะโลกในอดีตไม่ได้ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน และคนไม่เรียนรู้นอกเหนือจากสิ่งที่ต้องทำ

สมัยก่อนคนต้องรู้ลึกถึงจะเอาตัวรอดได้ แต่ปัจจุบันคนต้องรู้รอบเหมือนคำพูดที่ว่า มีความรู้แบบเป็ด (multipotentialite) ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในยุคนี้ เพราะการที่คนมีองค์ความรู้รอบด้านสะสมไว้ จึงมีแนวโน้มจะปรับตัวให้อยู่รอดได้ง่ายและเร็วกว่า

 

“อย่างตัวผมเป็นนายธนาคาร ผมเคยเชี่ยวชาญด้านการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้ ซึ่งในอดีตผมสามารถเอาตัวรอดได้ แต่ทุกวันนี้ผมต้องมีทักษะอื่น ๆ อีกมากมาย ต้องเข้าใจบริบทของลูกค้า ต้องมีการทำ customer journey (เส้นทางของผู้บริโภคตั้งแต่ก่อนจะเป็นลูกค้า) มีการทำ customer experience (การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า) และฟังฟีดแบ็ก”

“และเมื่อก่อนการสื่อสารเป็นแบบ one-way communication (การสื่อสารทางเดียว) แต่วันนี้เป็นโลกของ two-way communication (การสื่อสารเน้นการโต้ตอบ) จึงทำให้ฟีดแบ็กมีความหมายกับการให้การบริการ และการคิดค้นผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก”

“ดร.รักษ์” บอกว่า ความเครียดของคนทั่วไป และผู้นำองค์กรเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากเป้าหมายความสำเร็จซึ่งต่างกันไปในแต่ละยุค เช่น ปัจจุบันการเป็นสตาร์ตอัพมี wow factor เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเป็นที่ยอมรับ แต่สมัยก่อนคนเจเนอเรชั่น X ต้องเรียนจบในสถาบันที่ดีที่สุด ต้องต่อปริญญาโทและเอกในสถาบันที่ทุกคนยอมรับ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และอายุไม่เกิน 50 ปีจะต้องไปถึงตำแหน่ง top executive แล้ว

เพียงแต่เส้นทางในการไปถึงแต่ละเป้าหมายต้องแลกกับอะไรหลายอย่าง และแน่นอนว่าเราใช้พลังงานชีวิตเยอะมาก บางคนพอมาถึงจุดที่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว พบว่าข้างในทั้งทางร่างกาย และจิตใจพังแล้ว เพราะแต่ละวันต้องบริโภคความเครียด, ภาระ, ความกดดันทั้งเช้า กลางวัน เย็น

“ตัวผมเองสุดโต่งกับการทำงานมาก ทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทุกอย่างรอบตัวปั่นป่วน และพอมาถึงจุดหนึ่งร่างกายบอกผมว่าไม่ไหวแล้ว มีอาการแผลในกระเพาะอาหารและออฟฟิศซินโดรม ที่ใคร ๆ บอกว่าไม่เป็นไร แต่ในที่สุดกลับทำให้ผมล้มทั้งยืน จนผมต้องเข้าโรงพยาบาล ดังนั้น ความเครียดจึงเป็นเรื่องน่ากลัว และทำให้คนเสียชีวิตได้”

“เพราะคนเรามีเรื่องท้าทายในชีวิตไม่รู้จบ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ การดูแลร่างกาย จิตใจให้สงบ เป็นมิตรกับตัวเองมากขึ้น ด้วยหลัก 3 อ. ได้แก่ อาหารดี, อากาศ/บรรยากาศดี และออกกำลังกาย เพื่อจะสามารถดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง องค์กร และคนรอบข้างได้”

สำหรับนักธุรกิจสตาร์ตอัพ “ธกานต์” กล่าวว่า การทำธุรกิจสตาร์ตอัพเครียดมาก ตอนนี้ผมอายุ 29 ย่างเข้า 30 ปี เคยอยากจะเกษียณตอนอายุ 30 ต้น ๆ เพราะถูกผู้ที่มีอิทธิพลในแวดวงสตาร์ตอัพอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก และสตีฟ จ็อบส์ อดีตประธานบริหารของแอปเปิล ให้มุมมองว่า ความสำเร็จเกิดได้ตอนอายุยังน้อย จากนั้นจะได้เกษียณอายุตอนไม่เกิน 40 ปี

“ขณะเดียวกัน ผมไม่มีความรู้ และความสามารถในการดูแลตัวเอง ซึ่งคนที่ทำสตาร์ตอัพที่อายุรุ่นเดียวกันกับผม ต้องระดมทุนใหม่ทุก 6-9 เดือน ทั้งเรื่องการดูแลลูกน้องก็เป็นเรื่องใหม่ และต้องดูแลความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่รัก และพ่อแม่ไปพร้อม ๆ กัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด mental breakdown (ความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ หรือภาวะสติแตก) ได้ โดยคนรอบตัวผมที่ทำสตาร์ตอัพต่างเป็นโรคซึมเศร้า และ mental breakdown เกิน 50%”

“ช่วง 5-6 ปีก่อนหน้านี้ พ่อแม่อยากให้ผมเรียนปริญญาโท และผมต้องทำงานไปด้วย ขณะเดียวกัน ผมเห็นเพื่อนประสบความสำเร็จหมดแล้ว ส่วนผมยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และบริษัทตอนนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ อยู่กับความเครียดทุกวัน และหาที่พึ่งไม่ได้ ส่งผลให้ผมพบจิตแพทย์เพื่อรักษาความเครียด”

“ผมทานยาด้านจิตเวชวันละกว่า 10 เม็ด พออยู่มาวันหนึ่งธุรกิจฟื้นตัวขึ้นมา ขายได้ และบริษัทเริ่มโต จากเคยมีพนักงานไม่ถึง 10 คน กระทั่งมีพนักงานเพิ่มเป็น 120 คน ภายใน 1 ปี ผู้นำต้องอยู่กับความเครียดทุกวัน ดังนั้น ต้องดูแลร่างกาย และจิตใจที่มากพอ เพื่ออยู่กับความกดดันได้”

“ธกานต์” บอกอีกว่า คนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจมากกว่าทางร่างกาย และเกิด mental breakdown จนเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละวันเข้าโซเชียลมีเดีย โพสต์เรื่องราวต่าง ๆ ให้คนมาสนใจ พอมีคนสนใจน้อย หรือไม่มีคนสนใจ บางคนก็เกิดความเศร้า

ผู้นำยุคนี้จึงเผชิญการแข่งขันเรื่องความเร็ว (speed) สูงมาก และอยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เกิดการแข่งขันได้ง่ายมาก จึงมีคนในวงการสตาร์ตอัพหลายคนที่ชีวิตไม่สมดุล ทั้งจากอินเทอร์เน็ต การเปรียบเทียบ และการไม่ดูแลตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำองค์กร และทุกคนต้องทำมีอยู่ 2 กิจกรรมที่ควรทำทุกวัน คือ 1.การดูแลตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย 2.การพัฒนาจิตใจ เช่น การนั่งสมาธิ พัฒนาจิตใจ ปลูกต้นไม้ และเล่นโยคะ

“หลังจากที่ผมทำสิ่งเหล่านี้ ผมมีความเครียดลดลง ทำให้ productivity (ผลิตผลและผลิตภาพ) ดีขึ้น ตอนนี้ Globish มีคลาสสอนให้ลูกค้าต่อวันเกือบ 1 พันคลาส และมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมจึงเชื่อว่าสุขภาพจิตของผู้บริหารที่ดี ส่งผลให้สุขภาพจิตพนักงานดีขึ้นด้วย และทุกอย่างก็จะดีตาม นอกจากนั้น คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองผู้นำเป็น leader แต่มองหาผู้นำที่เป็น life leader หรือเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมทั้งที่ทำงาน และการใช้ชีวิต”

นับว่าการดูแลสุขภาพใจ และสุขภาพกายที่ดี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนทีม และองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างมีพลัง

 

 

ประชาชาติธุรกิจ

ซีเอสอาร์-เอชอาร์

วันที่ 22 สิงหาคม 2564 – 11:52 น.

 

Tags:
#HR Management
#Organization
#Wellness

เตรียมพร้อมสู่เส้นทางแห่งความเป็นผู้นำ