ปั้นภารโรงให้เป็นโปรแกรมเมอร์

ดร. เจมส์ สวีนนี่ ไม่สนใจเสียงคัดค้านของคนรอบข้าง เขามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะสามารถสอนลูกน้องคนหนึ่งในศูนย์คอมพิวเตอร์ชีวการแพทย์ ให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้เหมือนกับลูกน้องคนอื่นๆ

 

จริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ อาจารย์สอนวิชาการจัดการอุตสาหกรรมและจิตเวชศาสตร์จะสอนใครสักคนให้ใช้คอมพิวเตอร์เป็น และก็ไม่น่าจะมีใครไม่เห็นด้วย แต่สาเหตุที่อาจารย์ส่วนใหญ่ในศูนย์คอมพิวเตอร์ชีวการแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยทูเลน นิวออลีนส์ พยายามเบรกความคิดของ ดร. สวีนนี่ ก็เพราะลูกน้องของแกที่ชื่อ จอร์จ จอห์นสัน เป็นแค่ภารโรงธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น

 

ซึ่งก่อนจะย้ายมาทำงานที่นี่ จอห์นสันก็ไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อย เพราะเขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เวรเปลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และเหตุผลที่ตอกย้ำว่า ดร. สวีนนี่ ไม่ควรเสียเวลาสอนลูกน้องคนนี้ก็คือ คะแนนการทดสอบไอคิวของจอห์นสัน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่อาจารย์ในฝ่ายคอมพิวเตอร์ตั้งเอาไว้ และประเมินว่าสติปัญญาของเขา แค่จะเรียนพิมพ์ดีดยังยากเลย

 

นั่นคือสิ่งที่คนอื่นเชื่อ แต่ไม่ใช่สำหรับ ดร. สวีนนี่ เขาใช้เวลาช่วงบ่าย สอนคอมพิวเตอร์ให้แก่จอห์นสัน ด้วยความเชื่อว่า ตัวเองต้องทำได้ และในที่สุด ภารโรงที่มีไอคิวต่ำกลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลห้องคอมพิวเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้น จอห์นสันยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการฝึกอบรมพนักงานใหม่ในการเขียนโปรแกรมและใช้คอมพิวเตอร์ของศูนย์คอมพิวเตอร์ชีวการแพทย์อีกด้วย

 

แม้ว่าเรื่องราวของ ดร. สวีนนี่กับจอห์นสันจะเกิดขึ้นมานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยที่คอมพิวเตอร์เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทใหม่ ๆ แต่ข้อคิดที่น่าสนใจและนำมาใช้ได้กับคนยุคนี้คือ “ความเชื่อของตัวเอง มีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว”

 

ฝรั่งมีคำเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า Self-Fulfilling Prophecy หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ คิดอย่างไร ได้อย่างนั้น ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แต่เชื่อว่า ยังไงก็ไม่สำเร็จ ความเชื่อในด้านลบ ก็จะนำเราไปสู่การปฏิบัติแบบหมดหวัง มองเห็นอุปสรรคใหญ่เท่าภูเขา แต่ถ้าเชื่อว่าทำได้ ความคิดบวกจะกระตุ้นให้เรามีหวัง นำไปสู่การปฏิบัติแบบลุยไปข้างหน้า มองเห็นอุปสรรคเล็กกว่าละอองฝุ่น

 

หากคุณอยู่ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง จงแสดงความคาดหวังต่อสมาชิกในทีมว่า พวกเขามีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ จากนั้นตั้งเป้าให้ชัดว่าคุณต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรจินตนาการให้เห็นภาพแห่งความสำเร็จนั้น และคิดเผื่อไว้ว่าหากเจออุปสรรคระหว่างทาง คุณจะสนุกกับการรับมือ เพื่อวางแผนกำจัดมันซะแต่เนิ่น ๆ อย่างไร

 

เท่านี้แหละครับ ที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องทำ จงเริ่มต้นที่ความคิด ภารโรงจะเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ได้หรอกครับ ถ้าคุณคิดว่าภารโรงก็คือภารโรง จำไว้เลย “คิดอย่างไร ได้อย่างนั้น”

เตรียมพร้อมสู่เส้นทางแห่งความเป็นผู้นำ