Gut Feeling กับการหาคำตอบของหัวใจ

กลับมาเล่าเรื่องนี้อีกครั้งเพราะเจ้าลูกสาวกำลังสับสนอยู่กับการตัดสินใจเลือกว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนดี ระหว่าง UBC กับ University of Toronto

หนึ่งในวิธีตัดสินใจที่ดีที่สุดคือการโยนหัว-ก้อย ความสำคัญอยู่ตรงเสี้ยววินาทีที่เหรียญหยุด ฟังเสียง ‘หัวใจ’ ในสมองของคุณว่ามันบอกว่าอะไร เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เปลี่ยน-ไม่เปลี่ยน แต่ง-ไม่แต่ง ออก-ไม่ออก เสี้ยววินาทีนั้นใจมันเชื่อเหรียญ หรือใจมันอยากโยนใหม่อีกครั้ง

คุณผู้อ่านที่ให้เกียรติติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสมองและภาวะผู้นำในคอลัมน์นี้อาจพอคุ้นเคยแล้วว่า ในมุมของผู้นำ สมองสองส่วนที่เราสนใจเป็นพิเศษคือสมองส่วนหลังและสมองส่วนหน้า ในขณะที่ส่วนหลังดูแลเราในด้านอารมณ์ สัญชาตญาณ และพฤติกรรม เราใช้สมองส่วนหน้าในการวิเคราะห์เหตุผล วางแผน จัดลำดับความสำคัญ เทียบข้อดีข้อด้อย และควบคุมอารมณ์ให้ถูกกาละเทศะ

คิดง่ายๆ คือ สมองส่วนหน้าเป็นเรื่องเหตุผล สมองส่วนหลังเรื่องอารมณ์

ประเด็นชวนคิดคือมนุษย์มีสมองด้านเหตุผลเพียงนิ้ดเดียว สมองส่วนใหญ่ของเราคือสมองแห่งอารมณ์ ทั้งในด้านปริมาณ ความรวดเร็ว และการวิวัฒนาการ ฉะนั้นการใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียวจึงอาจเป็นการใช้สมองได้อย่างไม่เต็มศักยภาพนัก

Dr. Antonio Damasio นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองชื่อดังของโลกเล่าถึงชายผู้หนึ่งที่ชื่อ Elliot เขาได้รับการผ่าตัดเนื้องอกในสมองส่วนหนึ่งที่ผลข้างเคียงทำให้เขากลายเป็นคนที่ ‘ปราศจากอารมณ์’ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าการตัดสินใจควรตัดเรื่องอารมณ์ Elliot ก็ควรกลายเป็น ‘เทพ’ แห่งการตัดสินใจ

เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลังผ่าตัด Elliot กลับมาสู่ชีวิตปกติของเขา มีครอบครัว เป็นนักธุรกิจ มี IQ ระดับ Top 97% เช่นเคย แต่สมองของเขาไม่เหมือนเดิม เขามองโลกอย่างชินชา ไร้อารมณ์ ขาดความกระตือรือร้น ขาดความรู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งต่างๆรอบตัว และที่สำคัญ Elliot กลายเป็นคนที่ ‘ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้’ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆที่ไม่สำคัญ จนทั้งชีวิตครอบครัวและธุรกิจพังทลาย

ตัวอย่างเช่น Elliot ใช้เวลาถึง 30 นาทีในการเลือกเวลาที่จะจองร้านอาหาร และพอไปถึงร้านก็ใช้เวลาทั้งบ่ายในการเลือกเมนู หรืออีแค่จะเลือกว่าจะใช้ปากกาสีอะไรจดบันทึกกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องคิดแล้วคิดอีก

ความสามารถในการตัดสินใจของ Elliot ที่หายไปบ่งชี้ว่าอารมณ์อาจมีส่วนอย่างมากกับการเลือกของสมองมนุษย์ มิใช่แค่เหตุผลอย่างเดียว

ไอสไตน์บอกว่า “The intuitive mind is a sacred gift and the rational mind is a faithful servant. We have created a society that honors the servant and has forgotten the gift.” แปลสั้นๆ ว่า อย่าหลงสร้างองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลจนลืมความมหัศจรรย์ของอารมณ์

 

แล้วเมื่อไหร่ควรใช้เหตุผล เมื่อไหร่ควรใช้อารมณ์?

สมองส่วนหน้ากินไฟกว่าสมองส่วนหลัง และเพื่อประหยัดพลังงาน (ความเครียด) มันจึงชอบอะไรที่คุ้นเคยมากกว่าสิ่งที่ไม่ชัดเจน เช่น ชอบอดีตกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต การตัดสินใจด้วยเหตุผลจึงอาจมีข้อจำกัดว่าสมองอยากเลือกทางออกเดิมๆมากกว่าลองอะไรใหม่ๆ

 

ข้อควรระวังในการตัดสินใจด้วยอารมณ์:

 

สมองส่วนหลังเป็นเครื่องจักรที่ได้รับการพัฒนามานานและคล่องงานมาก จนบางครั้งมันคล่อง ‘เกินไป’ แปลว่าพอเห็นอะไรปุ๊บสมองส่วนนี้อยากจะตัดสินใจปั๊บโดยไม่ทันได้ไตร่ตรองก่อน และสมองส่วนนี้ไม่มีบทบาทของความควรไม่ควร ฉะนั้นความเสี่ยง ผลดีผลเสีย และข้อจำกัดต่างๆไม่ใช่สิ่งที่มันสนใจ

 

ดังนั้น การโยนเหรียญจึงอาจเป็นวิธีที่ดีก็ได้ เพราะระหว่างเวลาหมุนติ้วๆเหรียญมันบังคับให้สมองส่วนหน้าของเราต้องหยุดคิดก่อนตัดสินใจเปรี้ยงด้วยอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เราฟังเสียงหัวใจในสมองส่วนหลังด้วยในเสี้ยววินาทีที่เหรียญหยุด

 

ลูกสาวผมโยนเหรียญแล้ว ผลออกมาแล้ว และตัดสินใจเลือกแล้วครับ

เตรียมพร้อมสู่เส้นทางแห่งความเป็นผู้นำ