Career Path - เส้นทางการเติบโตของคนทำงาน
Career Path – เส้นทางการเติบโตของคนทำงาน
หลายๆ องค์กร ประสบกับปัญหาเรื่องโอกาสในการเติบโตของพนักงาน เพราะตำแหน่งมีจำกัด จึงทำให้คนทำงานรู้สึกว่าตนเองไม่มีอนาคต
สาเหตุหลักที่เป็นเช่นนี้ นอกจากปัญหาเรื่องการสื่อสารแล้ว ยังเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจในเส้นทางการเติบโต (Career Path) อีกด้วย
คนส่วนใหญ่ มักคิดว่าการเติบโต มีทางเดียวคือเติบโตไปแทนตำแหน่งของหัวหน้าโดยตรงของตนเอง (โตทางตรง) จึงทำให้รู้สึกว่าการเติบโตมันดูตีบตัน
แต่ในความเป็นจริง การเติบโตของคนทำงาน มีมากมายหลายเส้นทาง ในองค์กรใหญ่ๆ ที่มีระบบการบริหารจัดการดีๆ มักเปิดเส้นทางการเติบโตให้กับพนักงานอย่างน้อย 4 เส้นทางด้วยกัน ประกอบไปด้วย
1. โตทางตรง – คือเติบโตไปตามสายวิชาชีพหรือลักษณะงานที่ทำอยู่โดยตรง เช่น เป็นพนักงานบัญชีก็เติบโตไปเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี เป็นพนักงานขายก็เติบโตไปเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย เป็นต้น
2. โตทางอ้อม – คือ ขยับขยายไปเติบโตในงานอื่นก่อน เมื่อตำแหน่งงานที่สูงขึ้นในงานเดิมว่างลง จึงค่อยย้ายกลับมาโตต่อ เช่น เริ่มต้นทำงานฝ่ายขาย จากนั้นย้ายไปกินตำแหน่งที่สูงขึ้นในฝ่ายวางแผน แล้วจึงกลับมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขาย เมื่อมีตำแหน่งงานว่าง
3. โตทางข้าง – คือ เมื่อโตไปถึงจุดๆ หนึ่ง ตำแหน่งที่สูงขึ้นไป ไม่มีที่ให้ลง จึงขยายความรับผิดชอบให้กว้างขึ้น ดูแลงานที่หลากหลายขึ้น ทำให้มีรายได้และผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย เช่น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายขาย แต่เลื่อนตำแหน่งสูงไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะไม่มีตำแหน่งอื่นรองรับ จึงขยายความรับผิดชอบ เป็น “ผู้จัดการฝ่ายขาย การตลาดและวางแผน” โดยดูแลงานรวมกัน 3 อย่าง เป็นต้น
4. โตทางอื่น – คือการเปลี่ยนเส้นทางสายอาชีพไปเติบโตในเส้นทางอื่น เช่น เริ่มต้นทำงานเป็นวิศวกร แต่ย้ายสายงานไปอยู่การตลาดและเติบโตในสายงานการตลาด จนได้เป็น ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด เป็นต้น
อันที่จริง เส้นทางการเติบโต (Career Path) ยังมีช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่มีอนาคต มองไม่เห็นโอกาสในความก้าวหน้า มองไม่เห็น Career Path ของตนเองในองค์กร อาจเป็นเพราะมองแต่การเติบโตทางตรงเพียงอย่างเดียว ก็เป็นไปได้
อย่าลืมกดติดตาม LINE OA : Leadership Hacks สำหรับข่าวสารและอาหารสมองดี