ของเก่าก็ยังต้องทำ ของใหม่ก็ต้องคิด สรุปจะเอาอะไร?

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรื่องการเปลี่ยนแปลง (Change) ถือเป็นเรื่องใหม่ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาในการทำงานโครงการ Change & Transformation ให้กับองค์กรต่าง ๆ ดิฉันกับผู้นำองค์กรต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการสร้างบรรยากาศให้คนในองค์กรเห็นความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง (Create sense of urgency) ด้วยการพูดถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน และเหตุผลหลัก ๆ มีอยู่ 2 ข้อคือ เพื่อ “อยู่รอด” และ “เพื่อเติบโต”

 

บางองค์กรมีเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงเพราะต้องการอยู่รอด เพราะเจอความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของคู่แข่งในรูปแบบใหม่ทั้งในและต่างประเทศ การถูก disrupt ซึ่งการบริหารการเปลี่ยนแปลงในบริบทนี้จะพบว่าบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่ตรึงเครียด ผู้นำต้องเข้าใจและบริหารอารมณ์ของทีมงานที่กำลังถูกเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ก้าวผ่านความยากลำบาก พย่ายามหาวิธีต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มี รวมไปถึงจัดการกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจากคนกลุ่มเดิมที่ทำงานปัจจุบันอยู่

 

บางองค์กรมีเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงเพราะเห็นโอกาสแห่งการเติบโต เช่นการเข้ามาของเทรนด์ใหม่ เห็นโอกาสในการแตกสายธุรกิจใหม่แยกมาตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งการนำการเปลี่ยนแปลงในบริบทนี้ก็จะต้องอาศัยผู้นำที่การสร้างแรงบันดาลใจ วาดภาพอนาคตให้คนอยากไปด้วยกับอนาคต

 

ที่ผ่านมาเราอาจมองคุณลักษณะผู้นำที่มานำการเปลี่ยนแปลงใน 2 บริบทที่แตกต่างกันนี้แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงในแต่ละ stage อาจใช้ผู้นำที่มีคุณลักษณะเหมาะสมต่างกันด้วย อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิรูปองค์กรจากประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับแนวคิดที่เรียกว่า Ambidextrous Leadership ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ถนัดทั้งต่อยอดของปัจจุบันและหาสิ่งใหม่สู่อนาคต กล่าวคือ สามารถหาโอกาสใหม่ในอนาคต​ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถใช้ประโยชน์ต่อยอดจากสิ่งที่องค์กรมีอยู่แล้วในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อผลักดันนวัตกรรม​ความมีประสิทธิภาพและความสำเร็จในระยะยาวให้กับองค์กรได้

 

การนำองค์กรทุกวันนี้ทั้งมีความซับซ้อน ทั้งต้องแข่งขันด้วยเกมส์ใหม่ ผู้นำองค์กรต่างรู้ว่าความสำเร็จในอดีตไม่การันตีความสำเร็จในอนาคต เหตุนี้หลายองค์กรจึงต้องแบ่งเวลาและทรัพยากรในการมองหาสิ่งใหม่ในอนาคตด้วย เมื่ออยากทำของใหม่ แต่ก็ยังทิ้งธุรกิจหลักไม่ได้ ผลคือคนที่มีอยู่ต้องมายุ่งวุ่นวายกับการทำสิ่งใหม่ จนไม่สามารถโฟกัสกับ Core Business ที่ทำอยู่ได้ Ambidextrous Leadership จึงช่วยสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่ทำในปัจจุบันกับนวัตกรรมที่จะทำในอนาคต 

 

คุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ ของผู้นำแบบ Ambidextrous Leadership มีดังนี้

 

  1. สร้างวัฒนธรรมแห่งการเตรียมพร้อม (Culture of Preparation) ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว รวมถึงสร้างจิตสำนึกแห่งการสร้างความต่อเนื่อง (Sense of Continuity) กล่าวคือต้องสร้างวัฒนธรรมในการพูดคุยและมองหาว่าสิ่งที่ทำในปัจจุบันมีอะไรที่ทำได้ดีบ้าง จะคงไว้อย่างไร และมีอะไรบ้างที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตข้างหน้าเพื่อให้การปฏิรูปไปสู่ทิศทางใหม่ต่อเนื่องจากสิ่งที่ทำมาได้ดีหรือจุดแข็งที่เคยทำมาในอดีต
  2. สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (Psychological Safety) ที่วันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ดีที่ควรทำ แต่กลับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการนำมาซึ่งความสำเร็จ เพราะเป็นการปลูกฝังคุณค่าของความกล้าแสดงออก กล้าเสี่ยงพนักงานรู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวเอง แม้ทำผิดพลาดและแสดงความคิดเห็นโดยไม่กลัวการถูกลงโทษหรือเยาะเย้ย ซึ่งการศึกษาพบว่าสภาพแวดล้อมแบบนี้สำคัญอย่างยิ่งในเศรษฐกิจที่เน้นความเร็วและนวัตกรรมในปัจจุบัน
  3. ความสามารถในการบริหารความย้อนแย้ง (Paradox Management) เมื่อต้องทำ 2 สิ่งที่อยู่กันคนละขั้ว เช่นจะรวมศูนย์หรือกระจายอำนาจ จะเน้นความสัมพันธ์หรือผลลัพธ์ดี ซึ่งแทนที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ต้องสามารถหาจุดที่มันเชื่อมโยงและส่งเสริมกันได้มากกว่าเห็นเฉพาะจุดที่มันขัดแย้งกัน

เตรียมพร้อมสู่เส้นทางแห่งความเป็นผู้นำ