“ผมไม่เห็นว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร” สมาชิกวัยกลางคนท่านหนึ่งโพล่งออกมากลางงานประชุมประจำปี

 

“เราก็พยายามแก้แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้มันมีประวัติพงศาวดารมายาวนาน มีเรื่องมีราวกันก็เคยแล้ว เลยต้องใช้การประนีประนอมหาทางออกร่วมกัน” กรรมการบริษัทพยายามอธิบาย

 

“แล้วมันได้ผลไหมล่ะ” ผู้ถามจี้ต่ออย่างไม่ลดละ “ถ้ามันไม่ได้ผล ก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ไหม จะให้รอไปเรื่อยๆหรือไง”

 

คราวนี้กรรมการทั้งคณะถอนหายใจเฮือก “งั้นคุณเสนอว่าควรทำอย่างไรล่ะครับ”

 

“ผมจะไปรู้ได้อย่างไร ผมไม่ใช่กรรมการบริษัท พวกคุณเป็นกรรมการคุณก็ต้องแก้ไขสิ”

 

ปึ้ก… เสียงกำปั้นกระทบดิน

 

ผู้ถือหุ้นข้างๆผมเอียงตัวมาหา “อาจารย์ช่วยจัดหลักสูตรพัฒนามนุษย์สัมพันธ์ในที่ประชุมให้หน่อยได้ไหมคะ” (ฮา)

 

จัดหลักสูตรตรงๆไม่ได้ก็ขอใช้วิธีอ้อมๆแล้วกันครับ วันนี้ขอเขียนเรื่องกฎ 7-38-55 มาเล่าสู่คุณผู้อ่าน

 

กฎ 7-38-55 ถูกค้นพบโดย Albert Mehrabian ศาสตราจารย์จิตวิทยา ณ มหาวิทยาลัยแห่งคาลิฟอร์เนียในปี 1967 และได้ระบุรายละเอียดในหนังสือของเขาชื่อ “Silent Messages” ปี 1971 (ขอบคุณ Copliot A.I. สำหรับข้อมูล)

 

กฎนี้เกี่ยวกับการสื่อสารความรู้สึก และมีความสำคัญในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น โดยระบุว่า:

 

  • 7% ของความหมายถูกสื่อสารผ่านคำพูด ซึ่งคือเจตนาของผู้พูด
  • 38% ถูกแสดงผ่านน้ำเสียง คือสิ่งที่กระทบผู้ฟังว่าถูกหูหรือไม่
  • 55% ถูกส่งผ่านภาษาของร่างกาย คือการสังเกตของผู้ฟังว่าชอบวิธีพูดหรือเปล่า

 

แปลว่า 93% ของสิ่งที่ผู้ฟัง ‘ได้ยิน’ ไม่ใช่เจตนาของคนพูด แต่เป็นสิ่งที่สมองของเขารับรู้จากน้ำเสียงและอากัปกริยา

 

ในการเจรจาที่มีความเสี่ยงสูง การเข้าใจสัญญาณที่ไม่ใช่คำพูดเช่น ภาษาของร่างกายและลำดับเสียง เป็นสิ่งสำคัญ ความรู้ในการประยุกต์ใช้กฎ 7-38-55 ในสถานการณ์การเจรจาจะช่วยให้คุณเข้าใจว่าบุคคลที่คุณเจรจาอยู่ด้วยกำลังสื่อสารอย่างไร และควบคุมข้อความของคุณได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณอ่านสภาพห้องในกระบวนการเจรจาได้ดีขึ้น นี่คือบางเคล็ดลับในการประยุกต์ใช้กฎ 7-38-55 ในบริบทของการเจรจา

 

ในบริบทของผู้นำ กฎนี้มีผลอย่างยิ่งต่อทักษะการเข้าใจมนุษย์ Emotional intelligence (EQ) คือความสามารถในการรับรู้ ตีความ แสดงออก ควบคุม ประเมิน และใช้ความรู้สึกในการสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์

 

EQ คือความสามารถในการแสดงออกและควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และความสามารถในการเข้าใจ ตีความ และตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้อื่นด้วย บางผู้เชี่ยวชาญบอกว่า EQ มีความสำคัญมากกว่า IQ (ความฉลาดทางสติปัญญา) ในการประสบความสำเร็จในชีวิตเสียอีก แม้ว่าความฉลาดทางสติปัญญาอาจช่วยให้คุณสอบผ่านการสอบ แต่ EQ จะเตรียมคุณให้พร้อมสำหรับโลกจริง ๆ โดยให้คุณตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่นและของตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่นเหตุการณ์ข้างต้น

 

  • 7% ที่ส่งผ่านคือเจตนาการซักถามของผู้ถือหุ้นรายนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นข้อสังเกตที่ดี มีประโยชน์ต่อที่ประชุม แต่…
  • 38% ส่งผ่านน้ำเสียงซึ่งฟังดูห้วน ไม่ให้เกียรติคณะกรรมการ ทำให้คนฟังรู้สึกตำหนิมากกว่าชื่นชม
  • 55% ส่งผ่านภาษาของร่างกายซึ่งไม่น่าพิศมัย การนั่งพูดเสียงดังข้ามหัวผู้เข้าประชุมท่านอื่น นั่งกอดอก พูดแทรกโดยไม่ฟังคำตอบ ล้วนสื่อสารภาพทางลบมากกว่าบวก

 

“ผมเข้าใจครับว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องเดิมซึ่งมีประวัติมาก่อน เมื่อผมเป็นสมาชิกใหม่ เลยอยากแสดงความเห็นบางอย่าง เผื่อเป็นโอกาสในการพิจารณาเรื่องนี้ในอีกมุม ขอบคุณทุกคนที่รับฟัง ผมเองก็เห็นใจกรรมการทุกท่านซึ่งต้องรับมือกับความคาราคาซังนี้ และขอบคุณที่ท่านช่วยเราอย่างเต็มที่มาโดยตลอด”

 

เจ้าตัวยิ้มให้คนในห้องอีกครั้ง ก้มหัวให้ประธานอย่างเคารพก่อนนั่งลง

 

รู้สึกต่างกันไหมครับ?

เตรียมพร้อมสู่เส้นทางแห่งความเป็นผู้นำ