อย่าพูดแค่คำว่า ‘ดีที่สุด’

อย่าพูดแค่คำว่า ‘ดีที่สุด’

เชื่อไหมครับ คำว่า “ดีที่สุด” เป็นคำที่คนทำงานที่อยู่หน้างาน “เกลียดมากที่สุด” โดยเฉพาะ วิศวกรและนักออกแบบเครื่องบินของบริษัท โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีอายุเก่าแก่ถึง 108 ปี ไม่ชอบคำนี้เอาเสียเลย

เมื่อปี 1958 บริษัทโบอิ้ง ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการผลิตเครื่องบิน โบอิ้ง 707 เพราะเป็นเครื่องบินเจ็ทโดยสารรุ่นแรกของอเมริกา ที่บินเร็วกว่าเครื่องใบพัดแบบเดิม สามารถลดระยะเวลาเดินทางลงเหลือเพียงครึ่งเดียว ทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

และที่เป็นเกียรติประวัติสูงสุดของโบอิ้ง คือ รัฐบาลอเมริกาเลือกโบอิ้ง 707 นี้ มาใช้เป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดี หรือ Air Force One ต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปีเลยทีเดียว

แต่ต่อมา โบอิ้งก็เจอความท้าทาย คือ โบอิ้งรุ่น 707 นี้ไม่สามารถลงจอดในสนามบินที่มีรันเวย์หรือมีทางวิ่งสั้นๆ ได้ โบอิ้งก็เลยต้องพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ขึ้นมา

ในที่ประชุมผู้บริหารของโบอิ้ง ได้มีการประชุมกันอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ บางคนบอกว่าเป้าหมายของเราคือ การสร้างเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทันที่ที่พูดจบ ก็มีคนแย้งขึ้นมาว่า ดีกว่าเดิมไม่พอ ต้องดีที่สุด มีอีกเสียงหนึ่งพูดขึ้นมาอย่างจริงจังว่า เครื่องบินรุ่นใหม่นี้ต้องดีที่สุดในโลก

คำถามคือ สร้างยังไงให้ดีกว่าเดิม ให้ดีที่สุด ให้ดีที่สุดในโลก เพราะเป้าหมายที่เสนอในที่ประชุมไม่ชัดเจน วิศวกร และทีมงานออกแบบจะสร้างให้ถูกใจผู้บริหารได้ยังไง ในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องการความชัดเจนมากกว่านี้ คำว่าดีกว่าเดิม ดีที่สุด มันจับต้องยากในมุมของคนทำงาน

ว่าแล้วผู้บริหารทั้งหมดก็กลับมาคุยกันใหม่ โดยทำแนวคิดให้แคบลง และกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น สุดท้าย…เป้าหมายที่ได้จากประชุมครั้งที่สอง คือ โบอิ้งต้องการสร้าง 1) เครื่องบินรุ่นใหม่ที่ต้องบรรทุกผู้โดยสารได้ 131 คน 2) บินจากไมอามีไปยังนิวยอร์กได้โดยไม่ต้องหยุดพัก และ 3) ที่สำคัญที่สุดต้องลงจอดบนรันเวย์หมายเลข 4-22 ของสนามบินลากวาร์เดีย ซึ่งมีความยาวไม่ถึง 1,500 เมตรได้อย่างปลอดภัย

ผลลัพธ์ของการประชุมครั้งหลังนี้แหละครับ ที่คนทำงานต้องการ เพราะมันคือเป้าหมายที่จับต้องได้ และไม่ถึง 5 ปี โบอิ้งก็เปิดตัวเครื่องบินลำใหม่ คือ โบอิ้ง 727  ในปี 1963 มียอดขายสูงสุดมากถึง 1,832 ลำ แถมยังมีสายการบินมากถึง 90 สายการบิน ใช้บริการโบอิ้งรุ่นใหม่นี้ สายการบินแรกที่ใช้คือ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ สำหรับการบินไทยก็เป็นหนึ่งใน 90 สายการบินที่ใช้เครื่องรุ่นนี้ด้วยนะครับ

ดังนั้น ในฐานะผู้นำ การจะทำงานให้ประสบความสำเร็จและได้รับความร่วมมือจากทุกคนในทีม ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเสียก่อน และเมื่อเป้าหมายชัด ความสับคลุมเครือก็จะน้อยลง แล้วโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะเพิ่มมากขึ้น

Ready to start your Leadership Journey?