"อริยะ พนมยงค์" แนะ 4 ปัจจัย WFH อย่างมีประสิทธิภาพ

“อริยะ พนมยงค์” แนะมุมมองและเทคนิคการปรับตัว การทำงานในยุค นิวนอร์มอล ที่ต้องทำงานแบบ Remote Working ผสมผสานการทำงานด้วยเทคโนโลยี และการการทำงานปกติ แต่จะทำอย่างให้มีประสิทธิภาพ ต้องมี 4 ปัจจัย ได้แก่ Mindset, Manner, Media และ Management

 

นายอริยะ พนมยงค์ อดีตกรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ร่วมพูดคุยกับ อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป ในหัวข้อ “Covid and the digital micro-world we live in” มุมมองและเทคนิคการปรับตัวของคนทำงานที่กำลังก้าวสู่ Transition ของ New Normal 

 

ต้องยอมรับว่า Work from Home (WFH) หรือการทำงานแบบ Remote Working ได้กลายเป็นวิธีการทำงานของหลายๆ คน เพราะฉะนั้นควรมีการสร้างมาตรฐานการทำงานในลักษณะนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้มากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย สำคัญ ได้แก่

 

  1. Mindset:ทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ WFH ไม่ใช่ช่วงเวลาพักผ่อน อันที่จริงในอดีต เชื่อว่าพวกเราทุกคน ก็เคยทำงานที่บ้านบ้างเป็นครั้งคราว ไม่ว่าจะเป็นเพราะงานด่วนหรือต้องสะสางงานที่คั่งค้างให้เสร็จ เป็นต้น แต่คราวนี้ ไม่เหมือนก่อน การ WFH ไม่ใช่ตื่นขึ้นมา ไม่มีอะไรทำ ก็เอางานมาทำละกัน แต่การWFH คือการทำงานอย่างจริงๆ เพียงแต่ไม่ได้ไปทำที่ออฟฟิศ เท่านั้น

 

  1. Media: ต้องเรียนรู้และศึกษาวิธีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการสื่อสารต่างๆ อย่างเช่น Zoom, Microsoft Team, Google Meet, WebEx เป็นต้น ให้ทำเป็นในระดับที่ใช้งานได้ ไม่ใช่งกๆ เงิ่นๆ กดไม่ถูก เปิดไม่เป็น ปิดไม่ได้ ฯลฯ นอกจากนั้น ยังต้องเข้าใจระบบเทคโนโลยีเบื้องต้น เช่น ความเร็วของอินเตอร์เน็ต วิธีการเข้าถึงฐานข้อมูลของบริษัทจากทางไกล (Remote Access) เป็นต้น

 

  1. Manner:เข้าใจและปฏิบัติตามกฎกติกามารยาท ในการทำงานจากบ้านและการประชุมออนไลน์ เช่น หากองค์กรกำหนดให้ต้อง Check In ทุกๆ เช้า ก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนการประชุมออนไลน์ ก็มีข้อกำหนดเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรทราบเช่น ทุกครั้งที่ประชุม ควรเปิดกล้อง, เมื่อไม่ได้พูด ให้ปิด (Mute) เสียง และเปิดเฉพาะตอนที่จะพูดเท่านั้น เป็นต้น

 

  1. Management:การบริหารจัดการ หมายรวมถึงการบริหารจัดการตนเอง เช่น การมีวินัยในเรื่องเวลาเริ่มงานและเลิกงาน แม้ทำงานจากบ้านก็ตาม และการบริหารจัดการคนอื่น (ในกรณีที่มีทีมงานหรือลูกน้อง ที่ต้องดูแล) เช่นเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญที่ Input มาดู Output และ Result ของการทำงานแทน เป็นต้น

 

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการทำงานมากขึ้น ก็ต้องทำให้การทำงานของเราคล่องตัวมากขึ้น ในลีกษณะการทำงานแบบ agile ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงกระบวนการให้ทำงานได้เร็วขึ้น มี ประสิทธิภาพมากขึ้น ผสมผสานกับความคิดที่แตกต่างจากเดิม คิดและทำให้เร็วขึ้น จังหวะนี้ ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องเริ่มคิด เริ่มเทสต์ ทดลองไอเดียใหม่ๆ 

 

การทำงานแบบ Remote Working กลายเป็นอนาคตขององค์กร ไม่ใช่แค่ชั่วคราว เพราะสิ่งที่ได้ตามมาจากการทำงานรูปแบบนี้คือ Agile  ละอีกสิ่งที่ควบคู่กัน คือ ความยืดหยุ่น คนทำงานสามรถทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ แต่ต้องได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่องค์กรต้องการ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องมีการปรับวิธีการ และนโยบายขององค์กร 

 

มีบางคนถามว่า การ WFH หรือ Remote Working จะทำให้อัตราเงินเดือนเปลี่ยน หรือถูกลดเงินเดือน นั่นแสดงว่า ยังไม่เข้าใจการทำงานในรูปแบบนี้อย่างแท้จริง หรือคิดว่า ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน จะด้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะองค์กรยังต้องวัดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของพนักงานคนนั้นๆ ได้ การที่องค์กร ใช้เรื่องนี้ เป็นปัจจัยในการลดเงินเดือนพนักงาน เพียงเพราะต้องการใช้เป็นข้ออ้างมากกว่า 

 

นอกจากนี้ คำว่า New Normal เป็นคำที่พูดกันเยอะมาก แต่มีข้อคิดว่า ไม่มี New Normal ที่เป็น one-size-fits-all ที่ผ่านมา มีทั้งคนตกงาน ราว 20% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ หลายธุรกิจต้องเปลี่ยนรูปแบบ ร้านค้าต้องอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อม New Normal ของจริง เราต้องอยู่กับมันให้ได้ …ข้อดีคือ คนรู้ว่าต้องเปลี่ยน แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร สิ่งที่เราต้องคิดกัน” นายอริยะกล่าว

 

คำถามคือ โควิด-19 เริ่มปลดล็อค คุณจะเปลี่ยนอะไร โควิด- 19 ทำแผนของทุกบริษัทพังหมด แม้จะกลับมาใกล้ปกติมันก็ใช้แผนเดิมไม่ได้ สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน คนตกงาน กำลังซื้อหายไป เม็ดเงิน คนก็ตัดกันแหลก สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนเยอะมาก ในช่วง 2-3 เดือน

 

ภายใน 1-2 เดือนนี้ คนจะเริ่มคิดถึงครึ่งปีหลังและปีหน้า ว่าจะวางแผนอย่างไร และต้องมองระยะเวลาอย่างน้อยๆ ปีครึ่ง 

 

สิ่งที่แน่ๆ คือ โควิด สอนให้เราอยู่กับโลกดิจิทัลมากขึ้น เพราะเราไปไหนไม่ได้ คนที่ไม่เคยคุ้นเคย ก็จะคุ้นมากขึ้น กลุ่มเป้าหมาย ตรงนี้จะขยายขึ้นทันที อีคอมเมิร์ซคนไม่เคยใช้มาก่อน ก็ได้เข้ามาใช้ ทั้งคนอายุน้อย อายุมาก การเสพคอนเทนต์ออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องของคนคนรุ่นใหม่อย่างเดียวอีกต่อไป

 

หากแต่การใช้ประโยชน์ ต้องศึกษา ทำความเข้าใจให้ดี ทั้งบิซิเนสโมเดล และผลของการใช้โลกออนไลน์

Ready to start your Leadership Journey?