การให้อภัย คืออะไร ?

การให้อภัย คืออะไร ?

ความขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติในองค์กร อันที่จริงความขัดแย้งเป็นเรื่องดี ถ้าอยู่ภายใต้การควบคุม เพราะความขัดแย้ง นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

แต่ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต กลับเป็นสิ่งไม่ดี

ความขัดแย้งหลายอย่าง เริ่มต้นจากงานแล้วลามมาเป็นปัญหาส่วนตัว

แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ยั่งยืนคือการให้อภัยกัน

เมื่อวันก่อน ผมฟังอาจารย์ท่านหนึ่ง เล่าว่าอภัยมาจากคำว่า อะ กับ ภัย

อะ แปลว่า ไม่ เช่น อมนุษย์ คือไม่ใช่มนุษย์, อธรรม แปลว่า ไม่มีธรรมะ, อกุศล แปลว่า ไม่เป็นกุศล เป็นต้น

ดังนั้นคำว่า อภัย จึงแปลว่าไม่มีภัย” … อื่ม เพิ่งรู้ !

การให้อภัย คือการทำให้คนที่เป็นคู่ขัดแย้งของเรา รู้สึกว่าอยู่กับเราหรืออยู่ใกล้เราแล้วปลอดภัย ไร้กังวล ไม่มีการคิดร้าย ไม่แทงข้างหลัง

คนที่ปากบอกว่าให้อภัย แต่ในใจยังคิดลบ คิดร้าย กังวล ไม่ปล่อยวาง ถ้ามีโอกาสก็จะหาทางแก้แค้น หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น ไม่เข้าใกล้ ไม่คุยด้วย ตัดสัมพันธ์ ไม่ญาติดี หรือพูดจากระแนะกระแหน แดกดัน รวมทั้งสร้างความอับอายให้เขาในที่สาธารณะบ่อยครั้งเมื่อโอกาสอำนวย หรือแม้แต่พูดว่าไม่คิดอะไรแล้ว ช่างมัน อย่าไปพูดถึงมันเลย

พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นการให้อภัยแบบปากว่าตาขยิบไม่ใช่การให้อภัยที่แท้จริง

บ้านเมืองทุกวันนี้ มีความขัดแย้งกัน เพราะคนไม่รู้ความหมายของคำว่าอภัย

การให้อภัย ถือเป็นการทำทานที่มีบุญสูงมาก เรียกว่าอภัยทานหากคนไทยเรียนรู้ที่จะให้อภัยกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่ดีแต่พูดด้วยปาก ส่วนการกระทำยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าปลอดภัยก็ไม่น่าจะใช่การให้อภัยตามความหมายที่แท้จริง

วันนี้ คุณตั้งใจจะทำบุญด้วยการให้อภัยใครบ้างรึเปล่า ?

อย่าลืมกดติดตาม LINE OA : Leadership Hacks  สำหรับข่าวสารและอาหารสมองดี

Tags:
#Leadership Hacks

Ready to start your Leadership Journey?