อะไรคือ SARA Model ?

อะไรคือ SARA Model ?

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมไปบรรยายให้กับพนักงานดาวเด่น (Talents) ของบริษัทค้าส่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง

โครงการนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 8 สัปดาห์ (อบรมสัปดาห์ละ 1-2 วัน) โดยเริ่มต้นด้วยการเก็บ ความเห็น (Feedback) จากคนรอบข้างของผู้เข้าอบรม เพื่อจะได้ทราบว่าแต่ละคนมีจุดเด่นและจุดด้อยอะไร ในสายตาของเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา

โดยธรรมชาติ เมื่อคนได้รับ Feedback โดยเฉพาะในประเด็นที่ตนเองไม่เห็นด้วย มักต่อต้านหรือพยายามอธิบายด้วยการให้เหตุผลต่างๆ นานาว่าทำไมคนอื่นจึงมองเช่นนั้น

ดังนั้นก่อนแจกผลการสำรวจให้กับผู้เข้าอบรม จึงอธิบายแนวโน้มปฏิกริยาของคนส่วนใหญ่เมื่อได้รับ Feedback ที่เรียกว่า SARA Model ให้ฟังก่อน

 S – Shock : เมื่อได้รับข้อมูล คนส่วนใหญ่มักอยู่อาการช็อค(แบบไม่รู้ตัว) และมักพูดจาทำนองปฏิเสธ เช่น รายงานอ่านยาก, คนที่ให้ความเห็นไม่ได้รู้จักฉันจริงๆ, มันก็แค่การสำเร็จความคิดจากคนไม่กี่คน เป็นต้น

 A – Anger : หลังเวลาผ่านไปได้สักระยะ บางคนอาจเริ่มแสดงอาการโกรธหรือไม่พอใจ ด้วยการพูดว่าคนที่ให้ความเห็นคงอัดอั้นตันใจไม่รู้จะระบายยังไง เลยบ่นออกมาหรือฉันไม่เข้าใจ ทำไมพูดแบบนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่จริงเป็นต้น

 R – Resistance : จากนั้นก็มีโอกาสได้เห็นอาการปฎิเสธหรือไม่ยอมรับผลการประเมิน คำพูดของผู้ที่อยู่ในขั้นตอนนี้ เช่น ฉันก็เป็นอย่างนี้แหละ รับได้ก็รับรับไม่ได้ก็ช่าง หรือ ฉันคิดอยู่แล้วว่าต้องมีคนพูดแบบนี้ ก็เป็นเรื่องของเขา ฉันไม่สนใจหรอก เป็นต้น

 A – Acceptance : หากสามารถผ่านช่วง Resistance ไปได้ ก็จะเข้าสู่ช่วงยอมรับและพร้อมจะพัฒนา (แต่ถ้าผ่านไปไม่ได้ โอกาสปรับเปลี่ยนตัวเองก็จะไม่เกิดขึ้น) คนที่อยู่ในช่วงของการยอมรับนี้ มักพูดว่าแล้วฉันควรต้องทำยังไงหรือดีใจที่ได้รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร จะได้ปรับปรุงตัวเองถูกเป็นต้น

ขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

อย่าลืมกดติดตาม LINE OA : Leadership Hacks สำหรับข่าวสารและอาหารสมองดี

Tags:
#Leadership Hacks

Ready to start your Leadership Journey?