ไม่ได้โม้

เริ่มเดือนแรกของปี ด้วยการเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะกรรมการบริษัทประจำปี ทั้งสรุปผลงานปีที่ผ่านมา พร้อมกลยุทธ์และเป้าหมายของปีใหม่

 

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ดีของบริษัท เพราะบริษัทสามารถเติบโตได้แบบ Double Digit Growth ภายใต้เศรษฐกิจแบบฝืด ๆ นอกจากผลทางธุรกิจจะดีขึ้นแล้วยังพบว่าพนักงานก็มีความสุขมากขึ้น เพราะคะแนนความผูกพันต่อองค์กร (Employee Engagement Score) สูงที่สุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

 

ดิฉันจึงกลับมานั่งดูว่าเราทำอะไรที่ต่างจากปีก่อน ๆ ถึงได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง

 

ย้อนกลับไปปีทีแล้ว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2019 บริษัทเริ่มนำเรื่องวัฒนธรรม Wellness (Wellness Culture) มาใช้ในการทำงาน และผู้บริหารทั้งหมดต่างมุ่งมั่นและจริงจังในการทำตัวเป็นต้นแบบตลอดทั้งปี ใน 6 เรื่องคือ Emotional Wellness, Physical Wellness, Spiritual Wellness, Intellectual Wellness, Social Wellness, และ Environmental Wellness

 

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าผลลัพธ์ทางธุรกิจ คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเองของพนักงาน (Self Transformation) เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดคือการลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง ก่อนจะเปลี่ยนคนอื่นได้ ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ได้เสียก่อน

 

ผ่านไป 1 ปี เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมานี้ พบว่า

  • ตัวดิฉันเองน้ำหนักลดลงไป 6 กิโลกรัม ในขณะที่พนักงานคนหนึ่งลดน้ำหนักไป 12 กิโลกรัม และพนักงานทั้งหมดของบริษัทจำนวน 20 คนลดน้ำหนักรวมกันทั้งสิ้น 30 กิโลกรัม
  • ตัวดิฉันเองออกกำลังกายด้วยการวิ่งไปทั้งหมด 700 กิโลเมตร ใน 1 ปี ในขณะที่พนักงานคนหนึ่งลุกขึ้นมาเริ่มวิ่งครั้งแรกในชีวิต และใน 1 ปี วิ่งไปทั้งหมด 3,000 กิโลเมตร
  • สำหรับกลุ่มผู้บริหารที่เริ่มมีอายุ พบว่าสุขภาพดีขึ้น ไขมันอุดตันเส้นเลือด ความดันโลหิตที่เคยสูงมาตลอด 10 ปี กลับหายไป
  • ความสุขของพนักงานทั้งองค์กรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 12% (จาก 73% เป็น 85%)
  • แน่นอนที่สุดผลประกอบการของบริษัทเติบโตขึ้น

 

ทำไมผู้นำยุคนี้จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับ Wellness Culture

 

MDA Leadership Consulting เผยทักษะใหม่ที่ผู้นำยุคใหม่ต้องมีคือ ความสามารถในการสร้างองค์กรที่มี Wellness นั่นคือคนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีพลังกาย พลังใจ ในการทำงานในยุคที่วิ่งอาจชนะแต่เดินคือแพ้ และสิ่งเหล่านี้เริ่มจากผู้นำที่เป็นต้นแบบ และค่อย ๆ ขยายผลไม่สู่พนักงานทั้งองค์กรจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่

 

การจะทำองค์กรให้มี Wellness ไม่ใช่การจัดอีเว้นท์ จัดแข่งวิ่ง เชิญนักกีฬานักโภชนาการมาพูด สร้างห้องออกกำลังกาย หรือแข่งลดน้ำหนัก แต่ต้องทำเป็นวัฒนธรรม เริ่มจากสร้าง Sense of Urgency ทำไมต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเอง, นำเรื่อง Wellness และ Sustainability เข้าไปอยู่ในเป้าหมายองค์กร, หา Partner ที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง, หาทีมที่สนใจมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นแรก, สื่อสารป้อนข้อมูลให้พนักงานทราบอย่างต่อเนื่อง, ติดตามเป็นระยะและฉลองผลสำเร็จเป็นระยะ ๆ

 

ผลการศึกษาโดย MIT Slone กับองค์กรชั้นนำทั่วโลกกว่า 500 องค์กร พบว่า

  • 90% ของ CEOs และ CFOs เชื่อว่าหากองค์กรใส่ใจต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้องค์กร
  • งานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ งานวิจัยยืนยันว่าการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะช่วยให้องค์กรมีกำไรสูงขึ้นและสามารถให้ผลตอบแทนกลับไปสู่ผู้ถือหุ้นดีขึ้น
  • องค์กรที่เป็นได้รับการยกย่องว่าเป็น Best Places To Work และมีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมองค์กร สามารถให้ผลตอบแทนกลับไปที่ผู้ถือหุ้นสูงกว่าองค์กรทั่ว ๆ ไปถึง 20%

 

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Wellness ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดี และการมีวัฒนธรรมที่ดีเช่นนี้ย่อมส่งผลดีไม่เฉพาะต่อทั้งตัวบุคคล แต่ยังส่งผลไปสู่ทีมงานและองค์กรให้เกิดความยั่งยืนอย่างแน่นอน

 

ผ่านไปเพียงปีเดียว ดิฉันแทบไม่เชื่อตัวเองว่าจะเห็นผลดีได้ขนาดนี้ ย้ำว่า “ไม่ได้โม้นะคะ” และคุณไม่จำเป็นต้องเชื่อดิฉัน แค่คุณลองทำดู

Ready to start your Leadership Journey?