ยินดีต้อนรับน้องใหม่ เจเนอเรชั่น 5 จอ

คุณเอ: บริษัทเราไม่มีปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านเจเนอเรชั่นค่ะอาจารย์ แต่เราแค่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าฟังเลยอยากให้อาจารย์มาแลกเปลี่ยนให้ผู้บริหารฟังเพื่อเป็นอาหารสมอง

อาจารย์: ที่ผ่านมาเคยมีประเด็นอะไรที่ผู้นำหรือพนักงานพูดถึงข้อกังวลใจเกี่ยวกับวิธีการทำงานของคนแต่ละรุ่นบ้างมั้ยค่ะ

คุณเอ: ก็มีบ้างค่ะเช่นรุ่นพี่คิดว่าน้องรุ่นใหม่ทำงานไม่ทน หรือน้องมองว่าพี่ไม่เปิดใจ แต่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วกับทุกๆที่ ไม่ถือว่าเป็นปัญหาอะไรค่ะ

อาจารย์: แล้วปัจจุบันมีพนักงานแต่ละเจเนอเรชั่นเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ค่ะ

คุณเอ: อันนี้ต้องขอไปดึงตัวเลขแล้วส่งข้อมูลตามไปนะคะ

 

หลังจากนั้น 2 วันคุณเอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาบุคลากรของบริษัทข้ามชาติในธุรกิจค้าปลีกติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้ส่งข้อมูลให้ดิฉัน ทำเอาดิฉันตาลุกวาวเมื่อพบว่ามากกว่า 80% ของพนักงาทเป็นเจเนอเรชั่นวายและมีเพียงแค่ 1% เป็นเจเนอเรชั่นเบบี้บูม เมื่อล้วงลึกข้อมูลลงไปอีกจะพบว่าสัดส่วน 1% นี้เองคือผู้บริหารของบริษัทที่เป็นผู้ตัดสินใจด้านนโยบายต่างๆ ให้กับคนหมู่มากที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่นี้ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือข้อมูลพนักงานลาออกมีถึงปีละ 40% ซึ่งคุณเอกล่าวว่าเป็นปกติของธุรกิจนี้ !! สำหรับดิฉันในฐานะที่ปรึกษาด้าน Multi-Generational Leadership ยังไม่อาจทำใจมองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติได้ และยิ่งสนใจอยากรู้อยากเห็น บริบทเบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้ จึงขอพบกับท่านซีอีโอก่อนสองสัปดาห์เพื่อทราบความคาดหวังและเข้าใจบริบทก่อนจะมีบรรยายอาหารสมองกัน

 

เหตุการณ์ในวันนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงบทสนทนาของดิฉันเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วซึ่งดิฉันได้มีโอกาสบินไปรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อประชุมกับบริษัท Bridgework ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและศึกษาด้านเจเนอเรชั่นมากว่า 18  ปี เมื่อบินไปถึงดิฉันถึงกับงงว่าเรื่องนี้คุยกันมา 18 ปีในอเมริกาแล้วหรือ และดูท่าจะทวีความน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อมีสถานบันระดับโลกหลากหลายสถาบันต่างลงความเห็นว่าเรื่องความแตกต่างทางเจเนอเรชั่นกำลังเป็นความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

นายสคายลาร์ค แฟร์ดึ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเจเนอเรชั่นจาก Bridgework แลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจว่าปัญหาหลักที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องความแตกต่างทางเจเนอเรชั่น แต่ปัญหาที่สำคัญอยู่ที่เค้าไม่รู้ว่าเค้ากำลังมีปัญหา!! และปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีธรรมชาติ  แม้แต่ในอเมริกาเองเราเห็นเลยว่าอนาคตกำลังเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นซี (ปัจจุบันอายุ 4 – 21ปี) เค้ามีรูปแบบพฤติกรรมเฉพาะของเค้าและเทคโนโลยีช่วยผลักดันและสนับสนุนให้รูปแบบพฤติกรรมของเค้าชัดเจนยิ่งขึ้น ในอนาคตจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีใครสนใจเรียนวิชาแพทย์ เด็กเจนซีชอบอะไรที่ทำได้จริงเห็นผลเร็ว (pragmatic) การใช้เวลา 6 ปีในมหาวิทยาลัยอาจดูช้าเกินไปสำหรับพวกเค้า เมื่อโลกของพวกเค้าทุกอย่างคลิกและหาได้ภายในไม่กี่วินาที เช่นหากคุณอยากเป็นพ่อครัวที่เจ๋งที่สุดในโลก คุณจะพบว่ากูเกิลมีหลายล้านวิธีให้คุณเลือกศึกษาและเป็นได้ในไม่นาน ชีวิตคุณมีทางเลือกอีกมากมายอีกหลากหลายวิชาชีพที่รอคุณอยู่ ทุกวันนี้เองอาจารย์แพทย์ในอเมริกาต้องปรับรูปแบบการสอนผ่านเทคโนโลยี เช่น บรรยายผ่าน Facebook Live ส่วนนักเรียนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ นักเรียนบางคนวิ่งอยู่ในลู่วิ่งก็เสียบหูฟังบรรยาย ไม่ต้องมาเข้าคลาส สื่อการสอนก็ใช้ปรับมาใช้ VR (Virtual Reality) เป็นเครื่องมือประกอบการสอนผ่าตัด

 

ข้อคิดที่น่าสนใจจาก Bridgework พบว่าองค์กรยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็​จและสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้คือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรผ่านผู้นำที่ต้อนรับคนทุกเจเนอเรชั่น มีสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เปิดโอกาสให้คนทุกเจเนอเรชั่นได้ปลดปล่อยศักยภาพของตน สร้างเวทีที่พร้อมให้น้องใหม่ได้แสดงผลงานโดยมีรุ่นพี่เป็นที่ปรึกษาในแบบที่เรียกกว่าสนุกได้ผลได้ถึงพลาดแต่ยังปลอดภัย (Safe to Fail)  อีกทั้งยังมีการรีโปรแกรมระบบทรัพยากรบุคคล (HR Reprograming) ให้ทันสมัยโดยเน้นการความผูกพันสนับสนุนให้แต่ละเจนเนอเรชั่นได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่นระบบเมนเตอร์  (Mentor) ที่น้องได้เรียนผ่านประสบการณ์การทำงานในสายวิชาชีพจากพี่ และพี่ได้เรียนผ่านประสบการณ์ด้านการใช้เทคโนยีจากน้อง เป็นต้น

 

สองสัปดาห์ในมินนิโซตาที่ดิฉันได้ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างผู้นำแต่ละเจเนอเรชั่นทำให้ดิฉันเข้าใจและตื่นเต้นกับการต้อนรับน้องๆ เจนซี ที่บางส่วนเข้ามาแล้วและอีกส่วนใหญ่ที่กำลังเข้ามาสู่โลกของการทำงานอย่างเต็มตัวในปีหน้า “น้องๆ แห่งโลก 5 จอ” นี่คือ ความท้าทายที่เรากำลังเจอ หากเจนวายใช้อุปกรณ์สื่อสารเทคโนโลยี 3 จอ น้องๆ เจนซีจะมี 5 จอ!! แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อข้อเท็จจริงคือสมองของคนเราไม่ว่าจะเจนอะไรก็ทำงานแบบ Multitasking ไม่ได้ หากแต่มันทำงานแบบ Switching Task เท่านั้น และในการ Switch ไปแต่ละงานมันใช้เวลาถึง 25 นาทีในการปรับจูนเพื่อเข้าสู่เรื่องใหม่ ลองคิดดูถ้าน้องๆเจนซีมี 5 จอ ไม่ว่าจะเล่น iPad  เช็ค iPhone ส่ง Email เล่นตอบไลน์ไปด้วย ในหนึ่งชั่วโมงแห่งการทำงานสมองต้องปรับโฟกัส 5 รอบก็แทบจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันในชั่วโมงนั้น แล้วมันจะส่งผลอย่างไรกับผลงาน ความผิดพลาด และผลประกอบการโดยรวมทางธุรกิจ มันคงทำได้ไม่ยากหากบริษัทจะออกกฎห้ามนำโทรศัพท์เข้ามาทำงาน แล้วจะมีเด็กรุ่นใหม่กี่คนที่อยากเข้ามาทำงานกับคุณ

 

มาถึงจุดนี้เราจะยังบอกได้มั้ยว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเพียงเพราะเราอยู่กับมันทุกวันจนกลายเป็นความเคยชิน หากอยากสร้างความแตกต่างทางธุรกิจแห่งโลกอนาคตผ่านคนทุกรุ่นทุกวัยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเช็คสุขภาพองค์กรเบื้องต้นด้วยการกลับมาดูข้อมูลสัดส่วนพนักงานแต่ละเจเนอเรชั่นย้อนหลังไป 3 ปีแล้วคุณจะพบข้อมูลที่น่าตื่นเต้น

Ready to start your Leadership Journey?