ผู้นำกับปัญหาอคติโดยไม่รู้ตัว: กุญแจสร้างองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ
Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจ แต่ถ้าเป็นไปได้เราคงอยากเห็นความภาคภูมิใจเกิดขึ้นในทุกวัน
เมื่อพูดถึงนโยบายการสร้างความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร (Diversity, Equity, and Inclusion) ข้อมูลจากฐานข้อมูลของ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ที่มีข้อมูลของผู้นำองค์กรไทยกว่า 1,000 คน พบว่า ผู้นำองค์กรไทยมีจุดแข็งในการเรื่องความเข้าใจประโยชน์ของความหลากหลายและแตกต่าง แต่ยังมีจุดอ่อนเรื่องความสามารถในการบริหารความหลากหลายและแตกต่างเพื่อสร้างประโยชน์สำหรับอนาคต!
ทีมวิจัยของ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ทำการสำรวจเพิ่มว่า เมื่อพูดถึงคำว่าความหลากหลายและแตกต่าง คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าอะไร พบ 46% มองเป็นเรื่องเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศ อีก 46% มองเป็นเรื่องความคิด และ 2% มองเรื่องอายุ
เมื่อถามว่าอะไรคือตัวช่วยที่สำคัญ ผู้ตอบแบบสำรวจถึง 84% มองว่า การตระหนักและขจัดอคติโดยไม่รู้ (Unconscious Bias) ของตนเองจะช่วยให้ผู้นำองค์กรสามารถบริหารความหลากหลายและแตกต่างเพื่อประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างอคติโดยไม่รู้ตัว เกิดขึ้นตลอดเวลาและในทุกกระบวนการทำงาน อาทิ
อคติโดยไม่รู้ตัวต่อเพศทั้งชายและหญิง: ความสามารถของผู้หญิงผู้ชายในบางบทบาทหรือบางงาน เช่น บทบาทผู้นำ งานที่ต้องเดินทาง งานวิศวกรรม งานแรงงาน เหมาะกับผู้ชาย ในขณะที่งานที่ต้องใช้อารมณ์ ภาษา ความละเอียดอ่อน ความเห็นอกเห็นใจ เหมาะกับผู้หญิง ไปจนถึงอคติโดยไม่รู้ตัวต่อความทุ่มเทในงานของผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์และลาคลอด
อคติโดยไม่รู้ตัวต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ: อคติด้านภาษา เช่น คำถามในแบบฟอร์มบริษัทเกี่ยวกับครอบครัวที่ถูกกำหนดให้เลือกสถานะคู่ครองไว้เพียงสามี หรือ ภรรยา หรือการระบุเพศที่ถูกกำหนดไว้เพียง ชาย หรือ หญิง
อคติโดยไม่รู้ตัวต่อพนักงานรุ่นใหม่: ประสบการณ์น้อย ไปจนถึงจริยธรรมในการทำงาน อาทิ เด็กสมัยนี้เปลี่ยนงานบ่อย อยู่ไม่นาน ไม่รอบคอบ ขาดความอดทน
อคติโดยไม่รู้ตัวต่อคนพนักงานที่มีประสบการณ์ยาวนาน: ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ตามเทคโนโลยีไม่ทัน ความเสื่อมถอยของร่างกาย
แน่นอนที่สุดอคติโดยไม่รู้ตัวสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างไม่เป็นธรรมทั้งการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการมีส่วนร่วมในทุกวัน
สำหรับองค์กรที่ตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมให้เป็น Pride Organization องค์กรแห่งความภาคภูมิใจในทุกวัน ต้องขจัดอคติโดยไม่รู้ตัวเพื่อสร้างโอกาสที่พนักงานทุกคนจะประสบความสำเร็จ พร้อมสร้างประสิทธิภาพและนวัตกรรมให้องค์กร
- การให้ความรู้เกี่ยวกับอคติโดยไม่รู้ตัว โปรแกรมเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนเห็นอคติโดยไม่รู้ตัวของตนเองว่าคืออะไร แสดงออกมาอย่างไร และผลกระทบต่อการตัดสินใจและวัฒนธรรมในที่ทำงานอย่างไร
- การสร้างนโยบายและการนำไปปฏิบัติ นโยบายการจ้างงานที่ส่งเสริมความหลากหลาย เริ่มจากการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง คณะกรรมการการจ้างงานที่หลากหลาย และกระบวนการสรรหาบุคลากรที่ไม่เปิดเผยซึ่งข้อมูลที่ระบุตัวตนจะถูกลบออกจากใบสมัคร ไปจนถึงการสร้างเกณฑ์การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าในอาชีพที่โปร่งใส ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเกณฑ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับผลงานและทักษะมากกว่าการตัดสินที่อาจได้รับอิทธิพลจากอคติ
- การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่แบ่งแยก ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้างและให้เกียรติ ที่ให้พนักงานสามารถพูดในสิ่งที่พวกเขากังวลและให้ข้อเสนอแนะได้ รวมทั้งจัดเฉลิมฉลองความสำเร็จสำคัญที่เกิดจากการผนึกพลังความหลากหลาย สิ่งนี้สามารถช่วยสร้างการรับรู้และได้แรงบันดาลใจจากคนที่มีภูมิหลังและมุมมองที่แตกต่างกัน
- ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ช่วยลดอคติในการวัดประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการหาเครื่องมือที่เชื่อถือได้มาวัดประเมินศักยภาพพนักงาน และเครื่องประเมินผลการปฏิบัติงานมี่สามารถติดตามความคืบหน้าของตัวชี้วัดต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อตัดสินใจ