Trust and A.I.

Trust toward humans and trust toward artificial intelligence are not associated: Initial insights from self-report and neurostructural brain imaging (Christian Montag et. al., Personality Neuroscience, Cambridge University Press, 21 March 2023)

การศึกษาพบว่าความรู้สึก Trust ซึ่งมนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกัน กับ Trust ที่เรามีต่อปัญญาประดิษฐ์Artificial Intelligence นั้น ไม่เหมือนกัน กระบวนการของสมองสำหรับสร้าง interpersonal trust นั้น แตกต่างจากกระบวนการของสมองในการเชื่อถือ A.I.

“We observed a link between brain structure and trusting humans, but not a comparable strong brain structure link for trusting A.I.” การไว้ใจมนุษย์ใช้ระบบสมองซึ่งซับซ้อนกว่าการไว้ใจเอไอ นั่นคือข้อสรุปจากการทดลองนี้

ส่วนข้อคิดจากผมเองคือ การตัดสินของสมองว่าจะเชื่อ A.I. หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามันให้ ‘คำตอบที่ถูก’ แค่ไหน แต่กับการไว้ใจมนุษย์อีกคนนั้น สมองจะพิจารณาว่าเค้า ‘กล้าที่จะผิด’ ด้วยการพูดตรงๆ อย่างจริงใจกับเรามากแค่ไหน

เช่น หาก ChatGPT ให้คำตอบซึ่งถูกต้องตามข้อเท็จจริง เราก็บอกว่ามันเชื่อถือได้ แต่ถ้ามันให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ก็แปลว่าระบบมันใช้ไม่ได้ ขณะที่ผมเขียนเรื่องนี้ถึงคุณผู้อ่านอยู่ บรรดาโปรเฟสเซอร์จาก MIT ในอีกห้องแชตของผมกำลังถกเถียงกันอย่างเผ็ดมัน แต่ละคนต่างยกตัวอย่างข้อมูลที่ A.I. ให้มาอย่างผิดพลาด เป็นหลักฐานโน้มน้าวว่ามันไม่น่าเชื่อถือ

แต่ ‘เชื่อถือ’ กับ ‘เชื่อใจ’ ไม่เหมือนกัน

ลองคิดดูสิครับ ระหว่างคนรู้จักกับเพื่อนสนิทต่างกันตรงไหน? เพื่อนสนิท คือคนที่กล้าพูดความเห็นของเขาตรงๆ กับเรา โดยไม่กังวลว่ามันถูกต้องถูกหูหรือเปล่า “ชั้นบอกแกตรงๆ ว่ะ ไอ้ผู้ชายคนนี้มันไม่หวังดีกับแกหรอก ถ้าเป็นชั้นๆ จะอยู่ห่างเข้าไว้” หรือ “ข้าว่าคนที่ผิดคือเอ็งนะ ลดทิฐิลงบ้างแล้วไปขอโทษพ่อกับแม่ซะ”

ไม่มี AI ที่ไหนจะให้คำตอบกับเราแบบนี้ เพราะมันถูกโปรแกรมมาเพื่อให้คำตอบที่ถูกต้อง ผมลองกดถาม ChatGPT เล่นๆว่า จะเลิกกับแฟนดีมั้ย (สมมตินะครับสมมติ) มันตอบว่า As an AI language model, I don’t have access to the details of your relationship and can’t make a decision for you.

สมองถูกสร้างมาให้กลัวความผิด ปัญญาประดิษฐ์ก็ถูกสร้างมาให้กลัวความผิด แต่เพื่อนสนิทคือคนที่กล้าบอกความคิดของเขาตรงๆกับเรา กล้าบอกเพราะเค้าหวังดีกับเรา กล้าจะก้าวข้ามความกลัวในสมองของเขาเองว่าเราจะคิดกับเขาอย่างไร

นั่นแหละคือจุดเริ่มของความเชื่อใจระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ interpersonal trust ซึ่งดูเหมือนจะมีหลักฐานยืนยันจากการศึกษาข้างต้น

Trust แบบ A.I. คือการเชื่อถือในข้อมูลที่ได้รับว่าถูกต้องเพื่อนำไปใช้ต่อไป แต่ Trust แบบมนุษย์ คือการเชื่อใจว่าคนๆ นี้หวังดีกับเรา มองเห็นข้อดีของเรา มุ่งประโยชน์ของเราเหนือสิ่งอื่น ทำให้เราสบายใจและเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่

งั้นในมุมของผู้นำสมอง ผมขอตั้งคำถามบ้างว่า แล้วในการเป็นผู้นำของคุณ ทุกวันนี้ Trust ที่คุณมีกับทีมเป็นแบบไหน เป็นแบบแรกคือลูกน้องรอรับคำสั่งเพราะเชื่อว่าคุณเป็นผู้ให้คำตอบที่ถูกต้อง หรือแบบที่สองคือพวกเขาทุ่มเททำงานด้วยศรัทธาในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์กับคุณ

สำหรับผู้นำ มันสำคัญอย่างยิ่งในการแยกให้ออก ระหว่างความเชื่อถือกับความเชื่อใจ

เพราะความเชื่อถือในตัวหัวหน้าซึ่งคอยให้คำตอบที่ถูกต้องกับลูกน้อง กำลังถูกทดแทนด้วย A.I. ที่นับวันจะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าอย่างชัดเจน

แต่ความเชื่อใจและศรัทธาในตัวผู้นำ เพราะมั่นใจว่าอย่างไรก็ตามพี่จะหวังดีและพูดตรงๆด้วยความจริงใจเสมอ ใส่ใจในตัวเรามากกว่าความกังวลว่าสิ่งที่พูดจะถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า นับวันจะมีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะอย่างหลังนี่ A.I. (ยัง)ทำไม่ได้ครับ

Ready to start your Leadership Journey?