‘โค้ช’ ให้คิด

จริงไหมคนส่วนใหญ่ชอบฟังคำตอบมากกว่าถูกตอบคำถาม? เพราะการฟังใช้พลังงานน้อยกว่าการตอบ ลองมาฟังตัวอย่าง 2 ประโยคนี้ซิครับ แบบไหนต้องใช้พลังงานเยอะกว่ากัน “ปัญหาที่ยอดขายตกเป็นเพราะตลาดเก่าไม่เวิร์คต้องเพิ่มตลาดใหม่” หรือ “ปัญหาอะไรที่ทำให้ยอดขายตกและจะแก้ไขอย่างไร”

 

ประโยคแรกมีคำตอบชัดเจนว่าสาเหตุที่ยอดขายตกคืออะไรและจะแก้ไขอย่างไร เราแทบไม่ต้องคิด แต่ประโยคที่สองต้องใช้ความคิดมากกว่า

 

แม้ว่าการตอบคำถามต้องใช้ทั้งพลังงานสมองและเวลาในการคิด แต่ถ้าเราฝึกใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้คิดเร็วขึ้น และคนที่คิดเร็วกว่า ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่คิดช้าหรือไม่เคยคิด ดังนั้นถ้าคุณอยู่ในฐานะลูกน้อง ต้องดีใจที่มีเจ้านายชอบถามให้เราคิด แต่ถ้าคุณเป็นหัวหน้า ต้องหัดตั้งคำถามให้เขาคิดมากกว่าบอกให้เขาฟัง

 

สำหรับเครื่องมือในการถามให้คิดที่มีประสิทธิภาพ ก็คือโค้ชชิ่ง (Coaching) นั่นเอง และอาจพูดได้ว่า โค้ชชิ่งคือเครื่องมือในการโค้ชให้คิด แน่นอนครับ! โค้ชชิ่งจะเป็นประโยชน์แก่ลูกน้องโดยตรง หากหัวหน้าใช้มันเป็นประจำ

 

คราวนี้มาดูกันว่า โค้ชให้คิด ช่วยอะไรลูกน้องบ้าง

 

  1. ช่วยให้ผู้ถูกโค้ช มีมุมมองที่กว้างขึ้น (Expand Awareness) เพราะคนส่วนใหญ่มักจะรู้ลึกในงานที่ตนเองทำ ซึ่งจะทำให้รู้แคบ เนื่องจากคุ้นเคยและเชี่ยวชาญเฉพาะงานที่ทำ ดังนั้นการมีโค้ชจะช่วยให้เขาเห็นมุมมองอื่นๆ ซึ่งโค้ชชิ่งจะทำให้คนบางคน มองเห็น Strength และ Weakness ของตัวเองด้วย

 

  1. ช่วยให้ผู้ถูกโค้ชสามารถ ค้นหาทางออกของปัญหาได้ดีกว่าเดิม (Discover Superior Solutions) เพราะมีคนมาชวนคิด ถ้าคิดคนเดียวอาจคิดไม่ออก เนื่องจากคิดจาก pattern เดิมๆที่ตัวเองเคยชิน หรือคิดจากประสบการณ์เดิมที่เคยเจอ แต่พอมีคนมาตั้งคำถามใหม่ ๆ ให้คิด ผู้ถูกโค้ชจะเริ่มฉุกคิด เพราะต้องคิดหาคำตอบจากคำถามที่ตัวเองไม่เคยคิดจะถามตัวเองมาก่อน

 

  1. ช่วยให้ผู้ถูกโค้ช มีการตัดสินใจได้ดีขึ้น (Make and Implement Better Decisions) และช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะมีโค้ชมาคอยติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมอ

 

เอาล่ะครับ เมื่อเห็นประโยชน์ของการโค้ชให้คิดแล้ว ลองใช้กับลูกน้องที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้เลยครับ

Ready to start your Leadership Journey?