Think Buddy

ยุคต่อไปจาก ‘การโค้ช’ คือ ‘การคิด’ Next practice beyond a Coach is a Think Buddy

เวลาคุณผู้อ่านมีไอเดีย ‘บ้า ๆ’ เกิดขึ้นในหัว เอาสิ่งนั้นไปแชร์กับใครครับ? หากเป็นตัวเลือกเหล่านี้ในองค์กร บทสนทนาที่ตามมาน่าจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้

 

You: “I have a crazy idea” หนูมีความคิดบ้า ๆ อันนึง

Bad Boss: “I don’t have time” พี่ไม่มีเวลา

Good Boss: “Tell me how you are going to do it” จะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร

Co-worker: “Okay. Why don’t YOU do it first” เธอลองทำก่อนสิ

Mentor: “Don’t repeat these mistakes” อย่าทำเรื่องเหล่านี้ล่ะ

Coach: “How much have you been thinking about it?” คุณคิดถึงไอเดียนี้บ่อยแค่ไหน

 

มุมมองที่เสนอล้วนมีประโยชน์ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คุณมองหา คุณต้องการให้ใครสักคนรับฟังไอเดียที่มี ช่วยคิดต่อยอด ช่วยถามคำถามเปิดโอกาส ช่วยแชร์ความกระตือรือร้นที่คุณรู้สึก

คุณต้องการได้ยินแค่ “Great. I love crazy ideas. Let’s hear it.”

แต่ทำไมไม่มีใครพูดแบบนั้น? เพราะองค์กรในปัจจุบันยังไม่มีการสร้างระบบ Think Buddy ให้พนักงาน

การรีเสิร์ชเรื่อง Open Source Innovation ของผมพบว่า สาเหตุที่องค์กรขาดนวัตกรรมไม่ใช่เป็นเพราะเราขาดนวัตกร ทุกคนมีไอเดียบ้าๆเกิดขึ้นในสมองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตั้งใจคิดหรือเปล่า

ปัญหาคือในองค์กรทั่วไป เมื่อคนเกิดไอเดียนั้นแล้วไม่รู้จะไปแชร์กับใคร เมล็ดพันธุ์ของนวัตกรรมจึงฝ่อไปตามธรรมชาติ จนถึงจุดที่พนักงานบอกตัวเองว่าไม่รู้จะคิดไปเพื่ออะไร และสมองพวกเขาถูกสอนให้เลิกสนใจความสร้างสรรค์ที่เกิดในหัว

Chip and Dan Heath ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Switch: How to Change Things When Change Is Hard เล่าถึงบริษัทแห่งหนึ่งชื่อ Brasilata ทำบรรจุภัณฑ์ในประเทศบราซิล มีพนักงานประมาณ 900 คน สิ่งที่น่าทึ่งคือบริษัทสามารถดึงความคิดของคนเหล่านี้ออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในปี 2008 Brasilata ระดมไอเดียได้ถึง 134,846 ไอเดีย เฉลี่ยแล้ว 145.2 เรื่องต่อคน ข้อมูลล่าสุดในปี 2015 อัตราความสร้างสรรค์นี้เติบโตไปถึงกว่า 200,000 ไอเดียต่อปี!

สิ่งที่ช่วยให้ความคิดของคนในองค์กรเติบโตคือ Think Buddy

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

  1. What Is A Think Buddy? เขาคือคู่คิดที่มาช่วยทำให้ไอเดียเติบโต เค้าคือคนที่เวลาไอเดียบ้าๆเกิดขึ้นในหัวคุณอยากวิ่งไปเล่าให้ฟัง เค้าคือคนที่ไม่สนใจว่าทำไมคุณถึงคิดมันขึ้นมา หรือไอเดียนี้เกี่ยวกับคุณแค่ไหน ไม่สนใจกระทั่งว่าเป็นไอเดียนี้เป็นไปได้หรือเปล่า สิ่งเดียวที่เขาโฟกัสคือทำอย่างไรให้มันดีขึ้น มีมุมไหนที่สามารถมองได้อีก จะเพิ่มเติมอย่างไรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยคิดว่ามีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังใดในการนำมันไปทำให้เป็นจริง
  2. The Difference Is Focus ฟังเผินๆนั่นไม่ใช่การโค้ชหรือ? ไม่ใช่ครับ ความต่างระหว่างโค้ชกับ Think Buddy คือโฟกัส หัวใจของโค้ชคือการเติบโตของโค้ชชี่ ฉะนั้นโค้ชจะโฟกัสที่บุคคลตรงหน้าเสมอไม่ว่าเรื่องที่คุยจะเป็นเรื่องใด แม้แต่คำถามของโค้ชก็จะวนเวียนอยู่กับการทำให้เจ้าตัวคิดเพื่อบรรลุคำตอบ แต่ Think Buddy โฟกัสที่ไอเดียล้วนๆ เขาไม่สนใจว่าคุณจะเติบโตหรือเปล่า เขาสนใจเพียงว่าไอเดียนั้นจะพัฒนาได้อย่างไร คิดให้เห็นภาพคือคนสองคนนั่งด้วยกัน มีไอเดียลองเคว้งอยู่ระหว่างกลาง ทั้งคู่ใช้พลังและความกระตือรือร้นที่มีในการทำให้ไอเดียนั้นเติบโตที่สุด
  3. Birth of A New Practice การเป็น Think Buddy อาจฟังง่ายแต่ในชีวิตจริงยากกว่าที่คิด นั่นเพราะสมองมนุษย์มี Bias ตามธรรมชาติ มันตัดสินสิ่งต่างๆจากองค์ประกอบไม่น้อยไปกว่าแก่นของเรื่อง เช่น ในองค์กรส่วนมาก ‘ใครพูด’ สำคัญพอๆกับ(หรืออาจมากกว่า) ‘สิ่งที่พูด’ ดังนั้นหากอยากให้มี Think Buddy เยอะๆองค์กรก็ต้องลงทุนสร้าง จะสั่งสมองให้โฟกัสที่ไอเดียเพียงอย่างเดียวนั้นต้องฝึกฝน หลักสูตรการเป็น Think Buddy สอนทักษะที่สำคัญในการ ‘ช่วยคิด’ เช่น ถามคำถามอย่างไรให้ไอเดียเติบโต จะเปลี่ยนโฟกัสอย่างไรสู่ objective, outcome, assumptions, และ perspectives ฯลฯ

หากอยากรู้ว่าองค์กรของคุณมีวัฒนธรรมการเป็น Think Buddy อยู่แล้วมากแค่ไหน ลองให้พนักงานตอบคำถามต่อไปนี้

  1. คุณมีคนในองค์กรที่มักวิ่งไปแชร์ไอเดียบ้า ๆ ในหัวหรือไม่? เขาคือใคร?
  2. ไอเดียที่คุณมี มักจะพัฒนาเป็นผลลัพธ์ซึ่งนำไปทดลองปฏิบัติเสมอ ใช่หรือไม่?
  3. ทุกๆวันคุณตื่นเต้นและกระตือรือร้นกับการคิดอะไรใหม่ในที่ทำงาน ใช่หรือไม่?

หากคำตอบของพวกเขายังเอียงไปทาง ‘ไม่ใช่’ ผู้นำควรเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิด Think Buddy มากขึ้นในองค์กรครับ

Ready to start your Leadership Journey?