"คิด - ทำ" อย่าง CEO

ความสำเร็จขององค์กร เป็นภารกิจที่คนในตำแหน่ง CEO – Chief Executive Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารหลีกเลี่ยงไม่ได้ และตำแหน่งนี้ ก็เป็นตำแหน่งที่หลายคนใฝ่ฝัน แม้ว่ามันจะมาพร้อมภาระที่หนักอึ้งและความกดดัน

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป ได้กล่าวถึง การทำงานของซีอีโอระดับโลก ที่เป็นแบบอย่างที่น่าสนใจ ทั้ง Tim Cook ซีอีโอของ Apple, Satya Nadella CEO ของ Microsoft และ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft

เริ่มจากแนวทางการทำงานของ Tim Cook ซีอีโอของ Apple บริษัทที่เชื่อว่า มีน้อยคนมากที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อ Tim Cook ขึ้นมาเป็น ซีอีโอ ต่อจาก Steve Jobs ซึ่งคนส่วนมากปรามาสเขาว่าคงสู้ Jobs ไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของ Innovation แต่ปรากฎว่า Apple ในยุคของ Tim Cook มี Product Innovation ไม่แพ้ยุคของ Jobs เลยทีเดียว

Photo : Justin Sullivan | Getty Images

Tim Cook มีปรัชญาในการทำงาน หลักๆ 5 ประการ ที่น่าเรียนรู้และทำตามได้

  1. จงฟังคนอื่นพูดด้วยความใส่ใจและตั้งใจ (Focus and listen attentively to those you speak to)
  2. ยอมรับเมื่อตัดสินใจหรือทำอะไรผิดพลาด แล้วรีบแก้ไข โดยไม่ต้องแก้ตัว (Admit when you’re wrong)
  3. ตั้งใจทำในสิ่งที่ทำและทำให้สุดความสามารถ (Do what you do and do it well)
  4. เป็นตัวของตัวเอง อย่าพยายามเป็นคนอื่น (Be you and don’t pretend to be anyone else)
  5. กล้าเสี่ยงและเชื่อมั่นในความสามารถของคนรอบข้าง (Take risks & Trust others around you)

คนสำเร็จ คิดอย่างนี้ !

อีกหนึ่ง CEO ของ Microsoft คือ Satya Nadella เขาคนนี้ เป็นคนอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย ขึ้นมาเป็น CEO ของบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ของโลก ต่อจาก Bill Gates และ Steve Ballmer เมื่อปี 2014 เขาใช้เวลาเพียงแค่ 6 ปี ในการนำพาบริษัท จากมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเป็น 1 ล้านล้านเหรียญฯ

Photo : Chesnot | Getty Images

หลักการสำคัญในการทำงานของ Satya Nadella ในฐานะผู้นำองค์กร มี 3 อย่าง คือ

  1. Bring Clarity – ผู้นำต้องสร้างความชัดเจน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต ผู้คนต่างต้องการรู้ทิศทางและแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำ
  2. Generate Energy – ผู้นำต้องสร้างพลังให้กับทีมงาน เป็นผู้ทำหน้าที่ปลุกขวัญและกำลังใจ ให้คนทำงานรู้สึกฮึกเหิม มุ่งมั่น อยากเอาชนะ และไปต่อ
  3. Deliver Success – ผู้นำต้องขับดันให้เกิดความสำเร็จ ไม่นั่งรอจนกว่าสถานการณ์และทุกอย่างจะพร้อม แต่ต้องผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบของทุกสิ่ง

นี่คือหลักการเป็นผู้นำ (Leadership Principle) ที่ Satya Nadella ยึดถือ ในการทำหน้าที่ CEO ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ถ้าไม่ใช่ความล้มเหลว ที่ขวางกั้นความสำเร็จ แล้วอะไร ?

สำหรับ CEO คนนี้ ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เขาคือ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เขากับผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันเขียนต้นแบบของภาษาอัลแตร์เบสิก ซึ่งเป็นอินเตอร์เพรเตอร์สำหรับเครื่องอัลแตร์ 8800 (เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคแรกๆ)

เมื่อหลายปีก่อน บิลล์ เกตส์ ไปพูดที่ปักกิ่ง มีเด็กชายคนหนึ่งชื่อ ไจ เจียง (Jia Jiang) นั่งฟังอยู่ด้วย เขารู้สึกประทับใจและได้แรงบันดาลใจมาก ถึงกับตั้งใจว่าโตขึ้นจะซื้อกิจการของ ไมโครซอฟท์ ทั้งหมด

แต่ความฝันอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป เจียงและครอบครัวย้ายไปอยู่อเมริกาตอนเขาอายุได้ 16 ปี ในที่สุดเมื่อเรียนจบ ก็ได้ทำงานฝ่ายการตลาดของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีความสุข เขายังคงฝันเสมอว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่าง บิลล์ เกตส์

ในที่สุด เจียงก็ลาออกจากงานและเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับไอเดียใหม่ๆ ที่คิดและนำเสนอ

เจียงพยายามหาทางจัดการกับความรู้สึกไม่ดีเมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงทำการทดลองที่เรียกว่า “100 วันของการปฏิเสธ” (100 days of rejection experiment) ขึ้น โดยการนำไอเดียแปลกแปลกไปเสนอให้กับผู้คน เพื่อฝึกฝนให้คุ้นชินกับการปฏิเสธ

เช่นครั้งหนึ่ง เขาเสนอไอเดียให้กับร้านเบอร์เกอร์ชื่อดัง เพื่อขอซื้อเบอร์เกอร์แบบ Refill (คือหมดแล้วเติมได้) แต่คงไม่ต้องสงสัย เขาถูกปฏิเสธ !

อีกครั้ง เขาทดลองเคาะประตูตามบ้านต่าง ๆ และเสนอที่จะเข้าไปปลูกต้นไม้หนึ่งต้นในสวนหลังบ้านให้ คุณป้าเจ้าของบ้านคนหนึ่งตกใจมากและรีบปฏิเสธ เจียงจึงถามว่า “ทำไมไม่ได้ละ” (Why Not) คุณป้าตอบว่า “หมาที่บ้าน ชอบขุดต้นไม้” และแนะนำให้เขาไปขอบ้านข้างๆ เพราะชอบต้นไม้ เจียงจึงได้เรียนรู้ว่า เมื่อถูกปฏิเสธ หากถามหาเหตุผล อาจทำให้เจอโอกาสใหม่ๆ ได้

หนึ่งในการทดลองของเจียงซึ่งเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันมาก ๆ คือ การเสนอไอเดียให้ร้าน Krispy Kreme ช่วยทำโดนัทรูปโอลิมปิคให้ ซึ่งเจียงคิดว่าคงโดนปฏิเสธแน่ ๆ แต่ตรงกันข้าม พนักงานตกใจกับคำขอนั้น แต่ก็พยายามทำให้ (ดูคลิปได้ที่นี่ Rejection Therapy Day 3 – Ask for Olympic Symbol Doughnuts. Jackie at Krispy Kreme Delivers!)

เมื่อทดลองครบ 100 วัน เขาเรียนรู้ว่า หากมีความกล้า ไม่กลัวที่จะถูกปฏิเสธ ก็อาจประสบความสำเร็จได้ แม้จะไม่ทุกครั้งก็ตาม

Photo : Chip Somodevilla | Getty Images

เจียงได้ขึ้นพูดบนเวที TED Talks เกี่ยวกับการทดลองของเขา และเขียนหนังสือขายดีระดับ Best Seller ชื่อ Rejection Proof ปัจจุบันเขามีชื่อเสียงและเดินสายพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วไป ความฝันในการไม่อยากเป็นลูกจ้างของเขา เป็นจริงขึ้นมาได้ !

ไม่ใช่เพราะความล้มเหลวหรอก ที่ฆ่าความฝันของเรา แต่เป็นเพราะความกลัวที่จะล้มเหลวต่างหาก (It’s not failure that kills our dreams, it’s fear !)

 

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ออนไลน์
คอลัมน์: “คิด – ทำ” อย่าง CEO

Ready to start your Leadership Journey?