เส้นทางแห่งผู้นำ
หนังสือ เส้นทางแห่งผู้นำ (2018) เกิดขึ้นระหว่างช่วงการเปลี่ยนแปลงของชีวิตผม คือการเดินทางออกไปทำงานและย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการผสมผสาน 3 อย่างเข้าด้วยกัน เรื่องภาวะผู้นำ เรื่องข้อคิดจากสมอง และเรื่องคนไทยไปอินเตอร์ วันนี้ฉลองชื่อคอลัมน์ใหม่กับการกลับสู่ประเทศไทย ขอนำบทสัมภาษณ์เมื่อครั้งเปิดตัวมาสรุปสู่คุณผู้อ่านนะครับ
จากหนังสือ “สมองตัดสินด้วยหัวใจ, ผู้นำสมองใครๆ ก็เป็นได้, ปรับสมอง เปลี่ยนชีวิต พิชิตเป้าหมาย” อยากถามว่าหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้แตกต่างกันอย่างไร?
สมองตัดสินด้วยหัวใจ เป็นเรื่องเล่าสบายๆสไตล์พ็อคเก็ตบุ๊คส์ พอเข้าสู่เล่มหลังจะเริ่มมีแนวคิดและทฤษฏีด้านสมองเข้ามาจับ เช่น ผู้นำสมองฯ จะเล่าถึงการทำงานของสมองในบริบทของผู้นำ ปรับสมองฯ จะนำเสนอเครื่องมือที่ให้เอาไปใช้ได้ทั้งองค์กรและชีวิตส่วนตัว และเล่มนี้จะบูรณาการเล่าทั้งเส้นทางการเดินทางของผู้นำสมอง แต่ที่เหมือนกันหมดในทุกเล่มคือการเขียนเรื่องชีวิตส่วนตัวผมนี่แหละครับ เรื่องภรรยา เรื่องลูกๆ เรื่องคนเรียนในองค์กรต่างๆ กระทั่งเรื่องหัวหน้า จับมานินทาหมด!
ตามความเห็นของผม ความพร้อมของคนไทยในการก้าวสู่เวทีโลก จุดเสียเปรียบของเราชัดๆเลยมีสองจุด นั่นคือภาษาอังกฤษ และความเป็นผู้นำ
ในเรื่องภาษาอังกฤษ ปัจจุบันแค่อ่านออกเขียนได้มันไม่พอแล้ว ต้องวัดกันที่ความสามารถในการเถียงเป็นภาษาอังกฤษ คนไทยเถียงทันอินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไหม จะเถียงได้สมองเราต้องคิดเป็นภาษาอังกฤษ ถ้ายังคิดไทยแปลอังกฤษอยู่มันย่อมไม่ได้ วิธีพัฒนาตรงนี้ง่ายๆอย่างนึงคือเราต้องกล้าก้าวออกจากกรอบการเป็นคนไทย เช่น บริษัทที่คิดว่าอยากเติบโตออกไปในภูมิภาค อยากมีพนักงานศักยภาพระดับสากล ควรเลิกทำเทรนนิ่งเป็นภาษาไทยได้แล้ว ต้องบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แล้วมันจะดีขึ้นเอง
ส่วนเรื่องภาวะผู้นำ เราต้องกล้าที่จะมีจุดยืนและแสดงออกมากขึ้น เช่นเวลาทำงานกลุ่มมีหลายชาติ คนไทยมักจะเงียบกว่าคนอื่นเขา ไม่ใช่ไม่มีความเห็นนะครับ เพราะถ้าเพื่อนจี้ให้ตอบจะตอบได้ดี แต่ถ้าไม่มีใครถามเราจะรักสงบ วันก่อนผมเจอคนกัมพูชาในหลักสูตร ภาษาอังกฤษงูๆปลาๆมาก แต่เค้าไม่กลัวที่จะพูด พูดได้ยาวๆและเพื่อนก็ตั้งใจฟัง งั้นมันไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่อยู่ที่ภาวะผู้นำด้วย เราต้องเข้าใจว่าตำแหน่งผู้นำกับความเป็นผู้นำไม่เหมือนกัน คนไทยเรามักคิดว่าผู้นำต้องมากับตำแหน่ง เช่น หัวหน้า ซีอีโอ นายก ฯลฯ แต่ความเป็นผู้นำสามารถมีได้ และควรมี ในตัวคนทุกคน เพราะอย่างน้อยเราจะได้นำความคิดตัวเราเองได้ ซึ่งความคิดก็มาจากสมอง งั้นหากเราเข้าใจสมอง เราก็จะเข้าใจกระบวนการคิดได้ดีขึ้น
ออกตัวนิดนึงว่าผมพูดกว้างๆ จากข้อสังเกต แน่นอนมันไม่ได้หมายถึงคนไทยทั้งหมด แต่โดยรวมๆ ผมเห็นอย่างนี้
เส้นทางแห่งผู้นำ กล่าวถึง 8 ขั้นตอนของพลังงาน ซึ่งแนวผมคือวิทยาศาสตร์ผสมศิลปศาสตร์อยู่แล้ว หากจะให้ไฮไลท์สักเรื่อง น่าจะเป็นสเต็ปที่ 5 การใช้พลังให้เป็นประโยชน์ หรือ Channel Towards Usefulness เพราะเราทุกคนมีพลังอยู่ในตัวเอง เพียงแต่บางคนใช้มันไปในทางที่ไม่มีประโยชน์ เช่น นินทาคนอื่นได้ทั้งวัน หรือ บ้าอำนาจกดขี่ข่มเหงคนอื่น มันเป็นพลังงานที่ถูกใช้ในทางลบ สเต็ปนี้เตือนเราว่ามีพลังอย่างเดียวไม่พอ เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มันไปในทางที่ดีด้วย อย่าให้มันมีอำนาจเหนือเรา
อยากให้ด็อกเตอร์ธัญ ฝากอะไรถึงหนังสือ “เส้นทางแห่งผู้นำ” ผลงานเขียนเล่มที่ 4 เล่มนี้หน่อยค่ะ
ในฐานะผู้เขียน แน่นอนหนังสือเล่มใหม่ย่อมเกิดจากการเรียนรู้และตกผลึกจากเล่มที่ผ่านมา งั้นหากใครอยากรู้ว่า Brain-Based Leadership คืออะไร เส้นทางของผู้นำ ซึ่งเราไม่เคยเรียนในโรงเรียน เป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องราวการเดินทางของคนไทยที่มีโอกาสออกไปทำงานด้านพัฒนาภาวะผู้นำในต่างประเทศ เพื่อเตรียมตัวเองและคนไทยใกล้ตัวให้พร้อมโกอินเตอร์ เล่มนี้ก็จะมีครบหมด
สุดท้ายก็ต้องขอบคุณ คุณกานต์ บก. คนเก่งของผม น้องขวัญ ผู้ช่วยสนับสนุนด้านการตลาดมาตลอด ทีมงานผู้เกี่ยวข้องทุกคน และทางเนชั่นบุ๊คส์ ที่ให้โอกาสคนไทยได้นำเสนอผลงานความคิดที่เป็นของคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาภาวะผู้นำซึ่งเรามักจะอาศัยความรู้ข้อมูลจากต่างประเทศเป็นหลัก ขอบคุณในความเชื่อมั่น ตลอดเกือบสิบปีที่อยู่ด้วยกันมา ผมคิดว่าผลงานของเราได้ช่วยพัฒนาความเป็นผู้นำระดับสากลให้กับคนไทยบ้าง ไม่มากก็น้อย
ขอบคุณมากครับ