อนาคตของการเรียนรู้ในองค์กรเป็นอย่างไร

ในวันที่ธุรกิจกลับมาดำเนินงานตามปกติ องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเรียกพนักงานกลับมาทำงาน ทั้งในรูปแบบกลับมาที่ออฟฟิศ 100% และไฮบริด การเรียกพนักงานกลับมาครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่องค์กรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือการกลับมาพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน โดยเฉพาะทักษะแห่งอนาคต

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่องานมากกว่า 1 พันล้านตำแหน่ง หรือเกือบหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมดทั่วโลก และ 42% ของทักษะหลักที่ใช้ในการจ้างงานในปัจจุบันได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปีที่แล้ว นั่นแปลว่าองค์กรต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้ทัน ซึ่งไม่เพียงแต่ตัวทักษะที่เปลี่ยนไปหรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยผลักดันการเรียนรู้เท่านั้น ยังมีองค์กรประกอบอื่นในการเรียนรู้และพัฒนาในองค์กรที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

สลิงชอท กรุ๊ปทำการศึกษา พบองค์กรประกอบของการเรียนรู้และพัฒนาในองค์กรในอนาคต 4 ประการดังนี้ 

  1. เนื้อหาเปลี่ยนจากการให้วิธีการสู่ความสำเร็จ (How-to) มาเป็นการใช้เรื่องเล่า (Story) สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อช่วยให้เห็นภาพสำเร็จแห่งอนาคต และช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้เรียนให้อยากลงมือทำด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะกับตนเองและสถานการณ์เพื่อไปสู่ความสำเร็จนั้น

Content: From How-to To Story

  1. ผู้นำองค์กรเปลี่ยนบทบาทจากการให้โจทย์การพัฒนา (Sponsor) มาเป็นอาสาสมัคร (Volunteer) ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา การที่ผู้นำเข้ามาร่วมสังเกตการณ์หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาจะช่วยให้สามารถเก็บ feedback จากธุรกิจได้เร็วขึ้น เพื่อนำมาปรับรูปแบบการพัฒนาได้เร็ว ต่อเนื่องและทันต่อความต้องการของธุรกิจ

Leader: From Sponsor to Volunteer

  1. ผู้เรียนเปลี่ยนบทบาทจากเป็นผู้มารับเนื้อหา (Content Consumer) มาเป็นผู้ร่วมสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ (Content Creator) จากนี้ไปวัตถุประสงค์การเรียนรู้จะยังถูกกำหนดอย่างชัดเจน แต่เนื้อหาจะไม่ถูกกำหนดอย่างตายตัว ทั้งนี้การจัดเนื้อหาขึ้นกับผู้เข้าเรียนว่าสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละเรื่องนั้น ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ หากพบว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่กำลังคุยกันอยู่ ดังนั้นหลักสูตรในอนาคต หากเปลี่ยนผู้เข้าเรียน แนวคิดและข้อคิดในการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปตามกลุ่มผู้เรียน แต่ยังคงไว้ซึ่งเป้าหมายหลักของการหลักสูตรอยู่

Learner: From Content Consumer to Content Creator

  1. ประสบการณ์ที่ได้รับเปลี่ยนจากบรรยากาศการเรียนรู้ (Learning Experience) มาเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Experience) การเรียนรู้จากนี้ไปจะไม่ได้เน้นเรื่องความหลากหลายของรูปแบบเรียนรู้ เช่นในอดีตจะเน้น Blended Learning ทั้งเรียนออนไลน์ เรียนผ่านworkshop เรียนผ่านกลุ่ม ซึ่งในวันนี้ที่ธุรกิจมีความท้าทายและผู้เรียนต้องเอาเวลาไปใส่กับงานมากกว่าในอดีต จุดโฟกัสของการเรียนรู้จึงอยู่ที่การนำไปใช้ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน และไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรียนเพื่อเอาไปใช้ในการทำงานเท่านั้น การออกแบบหลักสูตรจากนี้ไปจะต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตได้ทันที ซึ่งการออกแบบจะถูกออกแบบให้เนื้อหาเหลือน้อยลง และเน้นการลองไปทดลองลงมือทำในชีวิตจริงทั้งในและนอกงาน แล้วกลับมาคุยกับExpert ที่จะช่วยตัดเย็บแบบเฉพาะในการนำไปปรับรูปแบบการนำไปใช้ ให้เหมาะเฉพาะกับคุณภาพชีวิตและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกัน

Experience: From Learning Experience to Human Experience

Ready to start your Leadership Journey?