สมองอยู่ได้ด้วยความหวัง

How was the election in Thailand? Why did the results turn out like that? ผมเดินสายอยู่ต่างประเทศช่วงเลือกตั้งไทยพอดี จึงพบกับคำถามเหล่านี้จากหลายๆ คน

ส่วนมากอยากรู้ว่า เกิดปรากฏการณ์ ‘สีส้ม’ ขึ้นได้อย่างไร (พวกเค้ารู้จักแต่สีแดงกะสีเหลือง หุๆ)

ผมตอบคำถามนี้ในมุมผู้นำสมอง ด้วยเรื่องคลาสสิคซึ่งเคยเขียนไว้ ‘สมองแห่งความหวัง’ (สมองตัดสินด้วยหัวใจ, 2013, สนพ.กรุงเทพธุรกิจ)

เมื่อปี 1953 นักวิทยาศาสตร์สองคนสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างจากหนูทดลองในกรง มันดูมีความสุขเมื่อได้รับ “การกระตุ้นสมองบริเวณหนึ่ง

เจ้าหนูตัวนี้ยอมอดข้าวอดน้ำ ยอมกระทั่งการเดินผ่านความเจ็บปวดจากการถูกช้อตด้วยไฟฟ้า เพื่อไปกดปุ่มที่จะส่งสัญญานกระตุ้นสมองส่วนนี้ของมัน สามารถกดได้ทั้งวันทั้งคืนจนมันหมดแรงไปเอง

ตอนแรก นักวิจัยทั้งคู่ตั้งชื่อสมองส่วนนี้ว่า ‘สมองแห่งความสุข’ (Bliss Center) ก็อะไรจะอธิบายเหตุผลที่เรายอมหิว ยอมเหนื่อย และยอมเจ็บ หากไม่ใช่เพื่อความสุข

แต่หลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี เราได้ข้อสรุปใหม่ว่าแม้การทดลองของพวกเขาจะถูก แต่การตั้งชื่อนั้นผิด

สิ่งที่เรารู้กันในวันนี้คือ จริงๆ แล้วสมองมนุษย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสุขขนาดนั้น เพราะความสุขไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อการบรรลุ KPI ของมัน สิ่งที่สมองใช้เป็นเครื่องมือคือ ‘ความหวัง’ ต่างหาก สมองที่ถูกกระตุ้นของเจ้าหนูตัวนั้นไม่ได้ให้ความสุข แต่ให้ ‘ความหวังว่าจะสุข’

สมองส่วนนี้จึงถูกตั้งชื่อใหม่ภายหลังว่า ‘สมองแห่งความหวัง’ (Reward Center) สำหรับมนุษย์

ลองคิดถึงตอนเราอยากได้อะไรสักอย่างสิครับ เช่น รถใหม่สักคัน เราตื่นเต้นตอนไหนมากที่สุด? หลายท่านอาจบอกว่าตอนเพิ่งได้มันมายังป้ายแดงหมาดๆ อยู่ ตอนนั้นล้างทั้งวัน ขัดสีลงแวกซ์ตลอด ใครเดินเฉียดไปใกล้เป็นอันกระวนกระวาย กลัวริ้นจะไต่กลัวไรจะตอม เวลาผ่านไปหกเดือน เกิดอะไรขึ้นครับ? ยังล้างยังประคบประหงมมันอยู่อีกไหม?

หรือบางท่านอาจบอกว่าพีคสุดคือตอน ‘ก่อน’ จะได้รถมาด้วยซ้ำ ตอนนอนกลิ้งกอดโบรชัวร์อยู่ที่บ้าน ตอนเฝ้าคำนวณว่าที่ไหนดอกเบี้ยถูกที่สุด จะดาวน์เท่าไหร่ดี จะเลือกสีอะไร ได้มาแล้วจะขับไปเที่ยวไหนให้คนมองเหลียวหลัง ตอนนั่งเบาะจะนุ่ม ตอนเหยียบเครื่องจะแรงหลังติดเบาะขนาดไหน

พอได้เป็นเจ้าของเข้าจริงๆ เกิดอะไรขึ้นครับ? ไม่นานรถรุ่นใหม่ของข้างบ้านทำไมดูสวยกว่าแรงกว่ารถเรา? ที่มีมือสองก็อยากได้มือหนึ่ง มีโตโยต้าก็อยากได้เบนซ์ มีเบนซ์อยากได้คาเยน เป็นต้น นั่นแหละครับคือการทำงานของสมองแห่งความหวังของคุณ เพื่อให้คุณมีพลังลุกขึ้นไปทำงานงกๆ มาผ่อนสิ่งเหล่านี้ต่อไป

KPI ของสมองคือการเอาตัวให้รอด ความสุขอาจทำให้เรารู้สึกว่าปัจจุบันดีพอ และอาจนำมาซึ่งความเฉื่อยชาอันเป็นความเสี่ยงต่อการเอาชีวิตให้รอด (Complacency) เช่น มนุษย์ถ้ำคิดว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยออกไปหากินก็ได้ไม่ต้องรีบร้อน แต่ความหวังทำให้ร่างกายกระตือรือร้น เกิดความกระฉับกระเฉงเพื่อผลักดันตนเองให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง (Sense of Urgency)

สำหรับสมอง ‘ความหวัง’ ทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดมากกว่า ‘ความสุข’

ข้อคิดจากหนูสู่มนุษย์ที่เป็นผู้นำก็คือ การหาสมองแห่งความหวังของคนในทีมให้เจอและฝึกกระตุ้นมันให้ชำนาญ เพราะเมื่อคุณทำได้สำเร็จ บรรดา ‘หนู’ ของคุณจะยินดียอมหิว ยอมเหนื่อย (ยอมเลือก?) และยอมเจ็บเพื่อบรรลุเป้าหมายของทีม

ส่วนคำตอบของคำถามข้างบนที่ผมเกริ่นไว้ คุณผู้อ่านคงต้องคิดต่อเองว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มาด้วย Happiness หรือ Hope

เลือกมาแล้วก็อย่าทำให้ผิดหวังละกันนะครับ

 

Ready to start your Leadership Journey?