ปรัชญาว่าด้วยเรื่อง “ใครสักคน”

ปรัชญาว่าด้วยเรื่องใครสักคน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้คุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง มาปรึกษาเรื่องญาติของเขาที่มีปัญหากันนิดหน่อย ผมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ให้ข้อคิดบางอย่างเกี่ยวกับการบริหารได้ดี ขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟัง เป็นข้อคิดครับ

ญาติ(ของเพื่อนผม) กลุ่มนี้ มีกันอยู่ประมาณสัก 10 กว่าคน ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน หนึ่งในนั้นเป็นคนพิการ เมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาเรื่องสุขภาพก็ตามมา คนที่พิการ ไม่มีลูกหลานคอยดูแล จึงตกเป็นภาระของพี่ๆ น้องๆ

แต่พี่น้องทุกคน ต่างมีภารกิจมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ทุกคนจึงหวังว่าใครสักคน ควรเป็นคนช่วยดูแลน้องคนที่พิการ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง เพราะทุกคนเชื่อว่าใครสักคนควรเป็นคนทำ

ผมเลยนึกถึงนิทานของฝรั่งเรื่องหนึ่ง ที่พูดถึงคน 4 คน ประกอบไปด้วย

 1) Somebody (ใครสักคน)

 2) Anybody (ใครก็ได้)

 3) Nobody (ไม่มีใครสักคน)

 4) Everybody (ทุกคน)

เรื่องราวมีอยู่ว่า

มีงานสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทำ และทุกคนก็แน่ใจว่าใครสักคนจะลงมือทำมันให้สำเร็จลุล่วงไป อันที่จริงใครก็ได้ควรเป็นคนทำ แต่ในที่สุดกลับไม่มีใครสักคนทำมัน

ใครสักคนจึงรู้สึกโกรธ เพราะคิดว่าเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของทุกคน

ทุกคนคิดว่าใครก็ได้ควรจัดการกับเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครสักคนตระหนักเลยว่าทุกคนไม่ทำ สุดท้ายเรื่องราวจึงจบลงด้วยทุกคนกล่าวโทษและต่อว่าใครสักคนเมื่อไม่มีใครสักคนลงมือทำในสิ่งที่ทุกคนควรทำมัน !!

555 อ่านแล้วงงไหม ? ถ้างง อ่านภาษาอังกฤษ อาจดีขึ้นตามนี้ครับ click here

เหตุการณ์อย่างนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในครอบครัวของญาติเพื่อนผมเท่านั้น ในทุกสังคมรวมทั้งที่ทำงานด้วย ก็เกิดขึ้นได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าใครสักคนควรต้องลงมือทำ อย่าเพียงแค่หวังว่าใครสักคนจะทำ 🙂 

อย่าลืมกดติดตาม LINE OA : Leadership Hacks สำหรับข่าวสารและอาหารสมองดี

Ready to start your Leadership Journey?