อนาคตของโลก #หมูป่าอคาเดมี

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปีของครอบครัว ทั้งหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่ต่างจับกลุ่มถกเถียงกันว่าทีมไหนจะเป็นทีมที่ชนะ ครองแชมป์ฟุตบอลโลกปีนี้  

 

ทันใดนั้น ก็มีเสียงเล็ก ๆ ตะโกนผ่าเข้ามากลางวง “ทีมหมูป่า!”

เสียงจากสาวน้อยวัย 6 ขวบ ลูกสาวคนเล็กของดิฉัน…เธอตะโกนซ้ำอีกครั้ง  “ทีมหมูป่า ของพวกเรา ต้องชนะ!!!”

 

สองสัปดาห์มานี้ พวกเราทุกคนรวมถึงลูกสาววัย 9 ขวบและ 6 ขวบของดิฉัน ต่างอดตาหลับขับตานอน เกาะติดสถานการณ์ทีมหมูป่า และยังคงเฝ้าคอยการกลับมาของพวกเขาทุกวินาที  ต่างช่วยลุ้นและเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาทุกคนจะได้กลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย

 

ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียลถึงความซุกซนของเด็ก ๆ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่เดือดร้อนคนไปทั่วโลก

 

นาทีนี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งตำหนิใคร  เพราะการวิพากษ์วิจารณ์นั้นสามารถทำได้ง่ายแต่คงไม่สำคัญเท่ากับความเข้าใจที่มีให้ทุกฝ่าย วันนี้จึงขอใช้พื้นที่นี้ ทำความเข้าใจพฤติกรรมของน้อง ๆ  ผ่านการศึกษาเรื่องเจเนอเรชั่น

 

น้อง ๆ มีอายุอยู่ในช่วง 11 – 16 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มประชากรที่เราเรียกกันว่าเจน Z (อายุ 5 – 22 ปี)  เด็ก ๆ กลุ่มนี้จะกลายเป็นประชากรหมู่มากของโลกใบนี้ในอีกไม่นาน โดยในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าพวกเขาจะมีจำนวนถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก เด็ก ๆ เจน Z มีลักษณะเฉพาะดังนี้

 

  1. รักการท่องเที่ยว ผจญภัย กล้าหาญ ช่างสำรวจ บริษัท Bridgework ผู้เชี่ยวชาญด้านเจเนอเรชั่นเผยว่า เด็กเจน Z เติบโตมายุคเดียวกับการ์ตูนแอนนิเมชั่นชื่อดังที่ชื่อ “ดอรา” และพฤติกรรมของเด็กเจน Z ก็ไม่ต่างจากตัวการ์ตูนตัวนี้เลย การ์ตูนดอราสาวน้อยนักผจญภัย (Dora The Explorer) ว่าด้วยเรื่องราวของ“ดอรา” เด็กสาวชาวลาติน วัย 8 ขวบ และเพื่อนสนิทของเธอ “บูตส์” ลิงน้อย วัย 5 ขวบ ที่ออกผจญภัยเพื่อค้นหาสิ่งของหรือช่วยเหลือคน ดอราเป็นเด็กนิสัยดี ใจดี มีน้ำใจ สุภาพ ชอบช่วยเหลือคน เธอจะสะพายเป้สีม่วงไปทุกครั้งที่ออกผจญภัย แน่นอนว่าการเดินทางต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย แต่ดอราและเพื่อน ๆ สามารถผ่านความยากลำบากเหล่านั้นไปได้ด้วยการช่วยเหลือและความสามัคคี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่น้อง ๆ ทีมหมูป่าอคาเดมีที่มีใจรักกีฬา จะใช้เวลาว่างกับกีฬา การท่องเที่ยวผจญภัย สำรวจธรรมชาติ ไปเป็นกลุ่มรู้รักสามัคคี คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

 

  1. มีความอดทนและแสวงหาความหมายของชีวิต มีงานวิจัยพบว่าพวกเขาอดทนกว่าเจน Y เสียอีก ยิ่งถ้ารู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มีความหมายมีคุณค่าสำหรับตัวเขามากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งสามารถอดทนทำสิ่งนั้นต่อไป พรุ่งนี้หากน้อง ๆ กลับออกมาได้ ควรหรือไม่ที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะบอกพวกเขาให้เลิกซนแบบนี้อีก เพราะการนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ อาจไม่ใช่คุณค่าแห่งชีวิตสำหรับคนเจนนี้  
  2. ชอบทำงานเป็นทีมเล็ก ๆ และชอบทำงานกับผู้นำที่เป็นทั้งเพื่อนเป็นทั้งครู จึงไม่แปลกใจว่าน้อง ๆ ทั้ง 12 คน ภายใต้การดูแลของโค้ชเอก ที่เป็นทั้งเพื่อนทั้งครู จึงทำให้เด็ก ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีแม้จะต้องอาศัยเพียงหยดน้ำที่ไหลผ่านหินในถ้ำประทังชีวิต

เรื่องราวของน้อง ๆ ทีมหมูป่ากับโค้ช สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม ความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่รักการท่องเที่ยว ผจญภัย ช่างสำรวจ หากเข้าใจแล้ว เราน่าจะเลิกนั่งตำหนิใครต่อใคร แล้วหันกลับมามองดูระบบสังคม ระบบการศึกษา ระบบสาธารณูปโภคของบ้านเราว่าพร้อมไหมที่จะตอบรับโลกแห่งการเรียนรู้ของน้อง ๆ เจน Z เจเนอเรชั่นที่กำลังเป็นอนาคตของโลก

พวกเราทุกคนหวังว่าจะได้เห็นภาพน้อง ๆ ออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัยโดยเร็ว ถึงเวลานั้นพวกเราคงได้ร้องเพลง We did it เฉกเช่นเดียวกับตอนจบของการ์ตูนดอรา … พวกเราทำได้!

Ready to start your Leadership Journey?