งานสัปดาห์หนังสือฯ

สัปดาห์ที่แล้วผมบินมาเปิดตัวหนังสือ “เส้นทางแห่งผู้นำ The Leadership Journey” ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

 

ทาง Nation Books จัดให้ขึ้นเวทีกับคุณจอย ศุนันทวดี อุทาโย อดีตผู้ดำเนินรายการคนเก่งของเนชั่น ใช้คำว่าอดีตเพราะปัจจุบันนี้คุณจอยเองก็ออกไปเดินตามเส้นทางแห่งผู้นำของเธอเอง นี่เพิ่งกลับมาจากท่องแอฟริกา ที่น่ารักที่สุดคือเธอมาพร้อมหนังสือผมในมือ

 

“ดีใจมากกกที่เจออาจารย์วันนี้ ชอบหนังสือเล่มนี้มากเลยค่ะ อ่านแล้วจอยรู้เลยว่าตัวเองควรทำอย่างไร” เล่นเอาคนเขียนปลื้ม

 

งั้นวันนี้ผมขอนำบทสัมภาษณ์ที่คุยกับคุณจอยในวันนั้นมาเล่า เผื่อคุณผู้อ่านที่ไม่สะดวกมาร่วมงานหน้าเวที

 

หนังสือเล่มที่ 4 “เส้นทางแห่งผู้นำ” เล่มนี้มีที่มาอย่างไรคะ

 

หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นระหว่างช่วงการเปลี่ยนแปลงของชีวิตผมพอดี คือการเดินทางออกไปทำงานและย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ เลยจะเป็นการผสมผสาน 3 อย่างเข้าด้วยกัน เรื่องภาวะผู้นำ เรื่องข้อคิดจากสมอง และเรื่องคนไทยไปอินเตอร์ครับ

 

หนังสือทั้ง 4 เล่มของอาจารย์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง อธิบายให้เราฟังหน่อยค่ะ

 

หนังสือแต่ละเล่มผมจะห่างกันประมาณ 2 ปี ทั้งหมดสี่เล่มก็ใช้เวลาเขียนแปดปี เล่มแรกๆเช่น สมองตัดสินด้วยหัวใจ จะเป็นแค่เรื่องเล่าสบายๆสไตล์พ็อคเก็ตบุ๊คส์ พอเข้าสู่เล่มหลังจะเริ่มมีแนวคิดและทฤษฏีด้านสมองเข้ามาจับ เช่น ผู้นำสมองฯ จะเล่าถึงการทำงานของสมองในบริบทของผู้นำ ปรับสมองฯ จะนำเสนอเครื่องมือที่ให้เอาไปใช้ได้ทั้งองค์กรและชีวิตส่วนตัว และเล่มนี้จะบูรณาการเล่าทั้งเส้นทางการเดินทางของผู้นำสมอง แต่ที่เหมือนกันหมดในทุกเล่มคือการเขียนเรื่องชีวิตส่วนตัวผมนี่แหละครับ เรื่องเพื่อนๆ น้องๆ เรื่องภรรยา เรื่องลูกๆ เรื่องคนเรียนในองค์กรต่างๆ กระทั่งเรื่องหัวหน้า จับมานินทาหมด!

 

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานทั้งในประเทศไทยและตอนนี้ที่อยู่ต่างประเทศ การทำงานแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือความพร้อมของคนไทยในการก้าวสู่เวทีโลก จุดเสียเปรียบของเราชัดๆเลยมีสองจุด นั่นคือภาษาอังกฤษ และความเป็นผู้นำ  

 

ในเรื่องภาษาอังกฤษ ปัจจุบันแค่อ่านออกเขียนได้มันไม่พอแล้ว ต้องวัดกันที่ความสามารถในการเถียงเป็นภาษาอังกฤษ คนไทยเถียงทันอินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไหม จะเถียงได้สมองเราต้องคิดเป็นภาษาอังกฤษ ถ้ายังคิดไทยแปลอังกฤษอยู่มันย่อมไม่ได้ วิธีพัฒนาตรงนี้ง่ายๆ คือเราต้องกล้าก้าวออกจากกรอบการเป็นคนไทย เช่น บริษัทที่คิดว่าอยากเติบโตออกไปในภูมิภาค อยากมีพนักงานศักยภาพระดับสากล ควรเลิกทำเทรนนิ่งเป็นภาษาไทยได้แล้ว ต้องบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แล้วมันจะดีขึ้นเอง

 

ส่วนเรื่องภาวะผู้นำ เราต้องกล้าที่จะมีจุดยืนและแสดงออกมากขึ้น เช่นเวลาทำงานกลุ่มมีหลายชาติ คนไทยมักจะเงียบกว่าคนอื่นเขา ไม่ใช่ไม่มีความเห็นนะครับ เพราะถ้าเพื่อนจี้ให้ตอบจะตอบได้ดี แต่ถ้าไม่มีใครถามเราจะรักสงบ วันก่อนผมเจอคนกัมพูชาในหลักสูตร ภาษาอังกฤษงู ๆ ปลา ๆ มาก แต่เค้าไม่กลัวที่จะพูด พูดได้ยาว ๆ และเพื่อนก็ตั้งใจฟัง งั้นมันไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่อยู่ที่ภาวะผู้นำด้วย วิธีพัฒนาก็คล้ายกัน คือนอกจากทำเทรนนิ่งเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ควรจะเลิกทำเทรนนิ่งกับคนไทยด้วยกันเองด้วย หลักสูตรพัฒนาคนไทยไปแข่งขันระดับอินเตอร์ต้องเรียนกับอินเตอร์ด้วยกันเท่านั้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพราะนั่นน่าจะเป็นกลุ่มหลักที่เราจะต้องทำงานด้วย

 

ออกตัวนิดนึงว่าผมพูดกว้าง ๆ จากข้อสังเกต แน่นอนมันไม่ได้หมายถึงคนไทยทั้งหมด แต่โดยรวม ๆ ผมเห็นอย่างนี้

 

อยากให้ด็อกเตอร์ธัญ ฝากอะไรถึงหนังสือ “เส้นทางแห่งผู้นำ” ผลงานเขียนเล่มที่ 4 เล่มนี้หน่อยค่ะ

 

แน่นอนหนังสือเล่มใหม่ย่อมเกิดจากการเรียนรู้และตกผลึกจากเล่มที่ผ่านมา งั้นหากใครอยากรู้ว่า Brain-Based Leadership คืออะไร เส้นทางของผู้นำ ซึ่งเราไม่เคยเรียนในโรงเรียน เป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องราวการเดินทางของคนไทยที่มีโอกาสออกไปทำงานด้านพัฒนาภาวะผู้นำในต่างประเทศ เพื่อเตรียมตัวเองและคนไทยใกล้ตัวให้พร้อมโกอินเตอร์ เล่มนี้ก็จะมีครบหมด

 

แต่แน่นอนครับ ให้ดีที่สุดคือมีครบทุกเล่ม ตั้งแต่ สมองตัดสินด้วยหัวใจ ผู้นำสมองใคร ๆ ก็เป็นได้ และ ปรับสมอง เปลี่ยนชีวิต พิชิตเป้าหมาย ซึ่งเนชั่น ฯ บอกผมว่าหนังสือดี เรายังมีขายอยู่ครบทุกเล่ม (หัวเราะ) งั้นแวะไปเยี่ยมกันได้ที่บู๊ธเนชั่น M51 โซน C ชั้น 1 เลยครับ

 

งานมีถึง 28 ตุลาคมนี้นะครับ!

Ready to start your Leadership Journey?