ผู้นำขั้นวิกฤต

ช่วงนี้ ยิ่งกว่าวิกฤตโรคระบาด ก็วิกฤตทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับผู้นำนี่แหละค่ะ

 

แน่นอนที่สุดว่าหัวใจสำคัญในการผ่านวิกฤตคือ “ผู้นำ” ว่าจะพารอดหรือพาร่วง จะพาเราผ่านวิกฤตหรือผู้นำจะกลายเป็นวิกฤตไปซะเอง

 

ยิ่งเวลาผ่านไป “วัฒนธรรม” การวิพากวิจารณ์ “ผู้นำ” ประเทศเราถึงความไม่มีประสิทธิภาพก็เพิ่มขึ้นทุกวัน

เมื่อพูดถึง “ผู้นำ” กับ “วัฒนธรรม” อะไรเกิดก่อนกัน?

 

ผู้นำเป็นคนสร้างวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมเป็นตัวสร้างคุณลักษณะของผู้นำกันแน่

 

เพราะมีผู้นำไม่มีประสิทธิภาพเลยทำให้เกิดวัฒนธรรมชอบวิพากวิจารณ์ หรือ เพราะเรามีวัฒนธรรมชอบวิพากวิจารณ์ เลยทำให้ผู้นำดูไม่มีประสิทธิภาพ

 

ย่อภาพลงมาจากระดับชาติมาสู่ระดับองค์กร ผู้นำประเทศก็เหมือนผู้นำองค์กร ส่วนวัฒนธรรมประเทศก็เหมือนวัฒนธรรมองค์กร ผลการศึกษาจาก The Leader’s Guide to Corporate Culture ซึ่งตีพิมพ์ใน Harvard Business Review แบ่งวัฒนธรรมองค์กรกับผู้นำออกเป็น 8 ประเภทด้วยกัน โดยดูจากองค์ประกอบ 2 มิติคือ

 

มิติแรกคือ คนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เน้นความยืดหยุ่น (Flexibility) หรือเน้นความมีเสถียรภาพมั่นคง (Stability)

 

มิติที่สองคือ คนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำงานเป็นอิสระจากกัน (Independence) หรือต้องพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)

วัฒนธรรมและการนำทั้ง 8 แบบ ไม่มีแบบไหนดีกว่าแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนมันเวิร์คกว่ากันในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่


 

แน่นอนภาวะวิกฤตเช่นนี้ ผู้นำองค์กรทั้งหลายก็เผชิญความท้าทายไม่แพ้ผู้นำประเทศ ดิฉันเป็นผู้บริหารบริษัทมาหลายสิบปี เจอความท้าทายทั้งภายในภายนอกมานับครั้งไม่ถ้วน เพิ่งผ่านศึกดิสรัปชั่นมาสดๆ ร้อนๆ ยังไม่ทันไรมาเจอวิกฤตโรคระบาดนี้อีก ของก็ต้องขาย ตัวเลขก็ต้องทำ แต่ตลาดไม่มีอารมณ์ บริหารตัวเลขก็ยากแล้ว ณ จุดนี้ต้องบริหารความคาดหวังของผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจและสังคมภายใต้อนาคตที่เราเองก็คาดเดาไม่ได้

 

วันนี้สิ่งที่ผู้นำทำได้ดีที่สุดคือ

1) สร้างองค์กรที่ยืดหยุ่น (Flexibility) ทำองค์กรให้ลีน เบาแต่แข็งแรง วิ่งผ่านช่วงที่บรรยากาศมันล้าไปได้ไกลและนานที่สุด พนักงานปรับตัวเร็วไม่ยึดติด  

2) ยิ่งวิกฤตทีมงานยิ่งต้องช่วยกันประสานความร่วมมือทั่วทั้งองค์กร ไม่มีแผนกฉันแผนกเธอ (Interdependence)

 

จากการศึกษาของ The Leader’s Guide to Corporate Culture  พบว่าในภาวะที่คนต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงแบบยืดหยุ่น (Flexibility) และต้องประสานร่วมมือกัน (Interdependence) ผู้นำควรสร้างวัฒนธรรม 2 แบบคือ

 

  1. วัฒนธรรมแบบเน้นความใส่ใจ (Caring) เน้นความไว้เนื้อเชื่อใจ ประสานร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนมีความจงรักภักดีต่อองค์กรต่อผู้นำ ผู้นำนำองค์กรด้วยความจริงใจ เน้นการสร้างทีมที่เข้มแข็ง
  2. วัฒนธรรมแบบเน้นอุดมการณ์ (Purpose) เน้นให้คนพยายามทำสิ่งที่ดีเพื่อเป้าหมายระยะยาวและอนาคตของสังคมของโลกที่เราอาศัยอยู่ สร้างความยั่งยืน ผู้นำนำองค์กรด้วยอุดมการณ์ เน้นการทำดีและแบ่งปันเพื่อสังคม

 

วันนี้เราต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ แต่คำถามคือ เราอยากจะผ่านมันไปด้วยพลังบวกหรือพลังลบ?

 

วัฒนธรรมเป็นตัวบอกบรรยากาศ ถึงเป้าหมายเหมือนกัน แต่จะไปถึงด้วยบรรยากาศแบบไหน

 

หากผู้นำและวัฒนธรรมช่วยส่งเสริมกัน ผู้นำปรับวิธีการนำให้เหมาะกับสถานการณ์ สร้างให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน นำการเปลี่ยนแปลงด้วยอุดมการณ์ สร้างทีมที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ก็จะส่งเสริมบรรยากาศการมีวัฒนธรรมแบบศรัทธา ไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความร่วมมือ ซึ่งมันน่าจะช่วยให้เราผ่านช่วงความยากลำบากนี้ไปด้วยพลังบวกๆ

 

เราจะผ่านมันไปด้วยกันค่ะ

Ready to start your Leadership Journey?