6 ทักษะสำหรับอนาคต

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระแสการทำลายล้างโดยเทคโนโลยี (Technology Disruption) กำลังถูกพูดถึงกันอย่างหนาหู จนกลายเป็นกระแสที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว

 

การปรับตัวเพื่อรับมือกับความก้าวหน้าทางด้านดิจิตัล (Digital Transformation) กลายมาเป็นวาระสำคัญสำหรับทุกๆ องค์กร

 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมาแย่งงานมนุษย์ได้จริงหรือ ต่อไปคนจะตกงานกันมากมายเพราะหุ่นยนต์สามารถทำแทนได้จริงรึเปล่า เป็นคำถามที่ทุกคนต้องการคำตอบ

 

ในฐานะที่ปรึกษาซึ่งทำงานกับหลากหลายองค์กรทั้งในประเทศไทยและประเทศแถบๆ อินโดจีน รวมทั้งยังมีโอกาสร่วมงานกับพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศอีกหลายแห่ง ทีมงานทั้งหมดเคยนั่งถกกันถึงความท้าทายนี้และมีข้อสรุปว่า มนุษย์กับเทคโนโลยียังคงต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีสิ่งใดจะสามารถทดแทนอีกสิ่งหนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครจะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยและรวดเร็วเพียงใด มากกว่า

 

ทักษะหลายอย่างที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์มากสำหรับคนทำงาน อย่างเช่น ความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศ อาจไม่สำคัญอีกต่อไปในอนาคต เพราะปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราสื่อสารกันได้แม้ไม่มีความรู้ในภาษานั้นๆ เลย ไม่เชื่อลองใช้ Google Translate ที่เป็น Application ดู แต่ในทางกลับกัน ก็ยังคงมีทักษะอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี

 

ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่า ในอนาคตอีกสัก 10-20 ปีข้างหน้า ทักษะใดเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องมีเพื่อที่จะอยู่รอดและเติบโตต่อไปในยุคดิจิตัล ผมจึงรวบรวมทีมงานวิจัยหลายชีวิตในบริษัทสลิงชอท ทำการศึกษา ค้นคว้า และวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัย 7 ขิ้น ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันที่มีความชำนาญและมีชื่อเสียงระดับโลก อาทิเช่น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่เก็บข้อมูลจากคนทำงานมากกว่า 700 วิชาชีพในองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ จาก 30 ประเทศทั่วโลก งานวิจัยขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่เก็บข้อมูลจากประเทศสมาชิกจำนวน 36 ประเทศซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 80% ของโลก และงานวิจัยของสถาบัน PEARSON, NESTA, Oxford Martin School ที่สำรวจความคิดเห็นของนักอนาคตวิทยา (Futurist) ที่มีชื่อเสียงหลายคน เพื่อค้นหาว่าอะไรคือทักษะสำคัญสำหรับปี 2030 เป็นต้น

 

เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้น จึงนำมาสังเคราะห์ร่วมกับทีมที่ปรึกษาผู้มากประสบการณ์ของบริษัทอีกหลายท่าน จนตกผลึกออกมาได้ 6 ทักษะสำคัญสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เทคโนโลยีกลายส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์

 

ความสามารถในการใช้ข้อมูลที่หลากหลายรอบด้านมาสร้างทางเลือกและใช้ในการตัดสินใจ (Complex Problem Solving) – เมื่อก่อนเวลาจะทำอะไรที ต้องวิ่งหาข้อมูลกันจนขาขวิด ถ้าจวนตัวคิดไม่ออกบอกไม่ถูกเวลานายถาม คำตอบง่ายๆ คือ ข้อมูลไม่พอ หรือ ไม่มีข้อมูล แค่นี้เรื่องก็จบ

 

แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ ใครอ้างว่าข้อมูลไม่พอ ต้องโดนจับไปถ่วงน้ำ ปัญหาทุกวันนี้กลับตาลปัตร ข้อมูลมีมากเกินไป จนไม่รู้ว่าจะหยิบตรงไหนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แม้สมองกลจะสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลแทนมนุษย์ได้ แต่ AI ยังตอบแทนมนุษย์ไม่ได้ว่าข้อมูลส่วนไหนเป็นประโยชน์และส่วนไหนควรตัดทิ้งไป ต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ป้อนคำสั่งเข้าไป 

 

ความสามารถในการคิด วิเคราะห์และจับประเด็น (Critical Thinking) – ปัญญาประดิษฐ์อาจช่วยมนุษย์ได้หลายอย่าง แต่การคิดวิเคราะห์ (Analyze) การคิดสังเคราะห์ (Sythesize) และการตัดสินใจโดยต้องใช้วิจารณญาณ ยังเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสมองของมนุษย์อยู่ดี

ยานยนต์ไร้คนขับ สามารถตัดสินใจได้ในระดับหนึ่งว่า รถควรไปหรือควรหยุดเมื่อเจอสัญญาณไฟจราจร แต่เมื่อพบกับสถานการณ์คับขัน อย่างเช่นต้องเลือกระหว่าง ชนหมากับเบรคแล้วรถคันหลังชนท้าย สมองกลยังตัดสินใจผิดหลายต่อหลายครั้ง คนจึงยังสำคัญในเรื่องนี้

 

ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ (Creative Intelligence) – หุ่นยนต์และสมองกล ไม่มีหัวใจ แม้อาจคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้บ้าง อย่างเช่นเครื่องจักรที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning) สามารถแต่งเพลงที่มีถ้วงทำนองและกลิ่นอายของวงเดอะบีเทิ้ลอย่างเพลง Daddy’s Car ได้ แต่ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างเป็นรูปแบบ (Pattern)

 

หากต้องคิดอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก อย่างเช่น Apple คิดสมาร์ทโฟนที่ไม่ต้องมีปุ่มกดเมื่อโทรออก หรือการขยายภาพด้วยการถ่างนิ้วเท่านั้น เป็นต้น จินตนาการของมนุษย์ก็ยังสำคัญและจำเป็นอยู่ดี

 

ความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่น เพื่อเข้าถึง เข้าใจ และจูงใจให้คล้อยตามจนเกิดการลงมือทำ (Social Intelligence) – หุ่นยนต์ทำงานหลายอย่างแทนคนได้ อาจช่วยสั่งการและบังคับควบคุมบางอย่างได้ แต่คงไม่สามารถรับฟังคนด้วยความเข้าอกเข้าใจ แสดงความเห็นใจและจูงใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคล้อยตาม เกิดความฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจ จนอยากจะลงมือทำหรือให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ เพราะเครื่องจักรอาจมีสมองแต่ไม่มีหัวใจ

 

ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ (Virtual Collaboration) – การทำงานเป็นทีมยังคงเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หุ่นยนต์ เครื่องจักร และปัญญาประดิษฐ์ อาจร่วมประชุมกับมนุษย์ได้บ้างหรือบางกรณีอาจปล่อยให้มันพูดคุยกันเอง แต่การสร้างความรู้สึกให้เกิดความผูกพัน (Engaged) ร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว และอยากจะไปต่อให้ไกลกว่าเดิมอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Go an Extra Mile จะไม่เกิดขึ้น หากมนุษย์อาศัยเพียงเทคโนโลยีมาช่วยกระตุ้นการทำงานเป็นทีม เพราะคนเป็นสัตว์สังคม ยังคงต้องการการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เรื่องนี้สมองกลทำแทนไม่ได้

 

ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Life-long Learning) – เทคโนโลยีอาจทดแทนมนุษย์บางคนได้ในอนาคต แต่ไม่มีทางที่จะทดแทนมนุษย์ได้ทุกคน คำถามคือใครละที่จะถูกหุ่นยนต์ทดแทน คำตอบไม่ยาก ก็คนที่ไม่พัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ

 

ดังนั้นทักษะหนึ่งที่จะทำให้เรายืนหยัดอยู่เหนือเทคโนโลยีได้ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด คือทักษะในการเรียนรู้ที่ต้องมีอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแต่ในห้องเรียนหรือในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น งานวิจัยหลายสำนักยืนยันตรงกันว่าจากนี้ไป เนื้อหาที่ได้เรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาจะหมดอายุไปภายใน 5 ปีหลังเรียนจบ เพราะฉะนั้นหากไม่เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา ความกังวลที่ว่า วันหนึ่งหุ่นยนต์จะมาทดแทนที่คน ก็อาจเกิดขึ้นได้จริง

 

ผู้ที่สนใจงานวิจัยฉบับเต็มซึ่งเป็นภาษาอังกฤษความหนาประมาณ 30 หน้า ที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดวิธีการเก็บข้อมูล แนวทางการวิเคราะห์ บทสรุปที่ได้ และข้อแนะนำในการเพิ่มพูนทักษะเหล่านี้ อีเมลมาครับ จะส่งให้

Ready to start your Leadership Journey?