ศูนย์กลางแห่งจักรวาล

หัวหน้า: “ข้อมูลแสดงว่า ลูกค้า A พึงพอใจลดลงไปถึง 20%”  

 

คุณจักรวาล: “ลูกค้ารายนี้เยอะครับ ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ขอโน่นขอนี่ เราก็ทำเต็มที่ พยายามทำตามที่เขาร้องขอทุกอย่าง แต่ก็ไม่เคยพึงพอใจ ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ!” 

 

หัวหน้า: “ก่อนหน้านี้ลูกค้าก็ Happy กับเรามากนี่คะ”  

คุณจักรวาล: “ก็เพราะทีมขายแหละครับ สปอยลูกค้าจนเคยตัว ภาระเลยมาตกอยู่กับคนที่ต้องดูแลต่อ”

 

หัวหน้า: “ในฐานะที่คุณดูแลลูกค้ารายใหญ่รายนี้ มีแผนจะเรียกความพึงพอใจกลับมาอย่างไรคะ”

คุณจักรวาล: “ยากครับ ปัญหาหลักอยู่ที่ตัวลูกค้าเอง ผมคุยกับเพื่อนในวงการ ใคร ๆ ก็บอกว่าลูกค้ารายนี้ ทั้งเยอะ ทั้งล้น”

 

หัวหน้า: “มีอะไรที่ทีมบริหารจะเข้าไปช่วยสนับสนุนได้บ้างไหมคะ”

คุณจักรวาล: “ทีมบริหารเข้าไปก็พูดแต่ High Level เดี๋ยวจะไปคุยกันคนละเรื่อง สุดท้ายจะเสียเวลาเปล่า”

 

เคยเจอไหมคะ คนแบบนี้ มีแต่บ่น โทษโน่น โทษนี่ ตัวเองไม่เคยผิด ตัวเองคือ “ศูนย์กลางแห่งจักรวาล” สุดท้ายไม่มีทางออก!

 

พบว่ามีบริษัทถึง 65% ล้มตั้งแต่ปีแรก ทั้งบริษัทที่สำเร็จและล้มเหลวในปีแรก มีหลายอย่างไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ดี ระบบดี การตลาดดี พนักงานเก่ง แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ทัศนคติของพนักงานที่ต่างกัน

 

มีการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับทัศนคติ วิธีคิด วิธีปฏิบัติของคนที่เรียกว่า “Above and Below The Line”

 

Above The Line คือลักษณะของคนที่มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำ เห็นโอกาส มีความหวัง ยอมรับคำติคำชม ลงมือทำ แสวงหาทางออก ยอมรับความผิดพลาดและหาทางก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อความสำเร็จ มองหาข้อดีของคนรอบตัว

 

ในทางตรงกันข้าม Below The Line คือคนที่ชอบโทษคนอื่น ตนเองไม่เคยผิด มีข้ออ้างเสมอ รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อ หาคนผิด เห็นแต่ข้อผิดพลาด ทุกอย่างคืออุปสรรค อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร รอให้คนอื่นทำก่อน พยายามหาเหตุผล เข้าข้างตนเอง

 

เชื่อกันว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นบวกหรือลบขึ้นกับทัศนคติ วิธีคิด วิธีรับมือกับสถานการณ์ การตอบสนองต่อสถานการณ์แบบ Above The Line จะเกื้อหนุนให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ช่วยกันลงมือทำและแสวงหาทางออกเพื่ออนาคต

 

องค์กรยุคใหม่จึงหันมาสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Above The Line ผ่านการสร้างพฤติกรรมให้คนในองค์กรสามารถนำและรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างคุณลักษณะคนดังนี้

 

  1. ทำงานโดยมีวัตถุประสงค์และมีความมุ่งมั่นในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
  2. ใกล้ชิดกับทีมงาน ให้คำแนะนำและสอนงานสมาชิกในทีมทุกวัน
  3. รีบขจัดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นก่อนปล่อยให้มันกลายเป็นปัญหาใหญ่
  4. สื่อสารและประสานความร่วมมือกับทุกคนในองค์กรได้แบบไร้พรมแดน ไม่ปล่อยให้แนวคิด Silo ว่าฉันสังกัดอยู่ทีมไหน อยู่ระดับใดขององค์กรมาเป็นอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือ

 

วันนี้องค์กรของคุณมีคนแบบ Above The Line หรือ Below The Line มากกว่ากัน

 

คุณกำลังมีคนที่มองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือคนที่มองตนเองเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่พร้อมปรับพร้อมนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร หากคุณมีแบบหลังมากกว่า ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ

Ready to start your Leadership Journey?