'คิดล่วงหน้า' หรือไป 'ตายเอาดาบหน้า'

“ถ้าไม่อยากตาย ต้องคิดแบบมีกลยุทธ์” นี้คือคำพูดประโยคแรกของข้าราชการบำนาญวัย 85 ปี เมื่อผมขอให้ช่วยอธิบายคำว่ากลยุทธ์แบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องอ้างอิงทฤษฏี

 

เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ระหว่าง พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2527 พ่อผมรับราชการอยู่ภาคใต้ตอนล่าง สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีชื่อย่อว่า กอ.รมน. ปฏิบัติงานอยู่หลายพื้นที่ เช่น สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พ่อเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ ปจว. ต้องทำงานภายใต้นโยบายใต้ร่มเย็น ซึ่งในตอนนั้น พล.อ.หาญ ลีนานนท์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ โดยฝ่ายตรงข้ามคือกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา พ่อต้องลงพื้นที่ พาชุด ปจว. ซึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และพลเรือน จำนวน 5-6 คน ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในชนบท เพื่อดึงมวลชนกลับมายังฝั่งรัฐบาล โดยเน้นการสื่อสาร 4 เรื่อง คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตย พ่อต้องเดินทางไปพูดคุยกับประชาชนในหลายหมู่บ้าน เดือนหนึ่งลงพื้นที่ 20 วัน จากนั้นจึงได้กลับมาพักผ่อน 10 วัน

 

พ่อบอกว่า การไปทำงานที่มีความเสี่ยงแบบนี้ ไม่มีกลยุทธ์ไม่ได้ ก่อนลงพื้นที่ ต้องคิดล่งหน้า ต้องวางแผน ต้องเตรียมการให้รอบคอบรัดกุม จะไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ โอกาสตายสูง!

 

การจะบรรลุเป้าหมาย ต้องกำหนดทางเลือกหลาย ๆ ทาง จากการประเมินกำลังตัวเอง ต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ประเมินฝ่ายตรงข้าม ต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของคู่ต่อสู้ และประเมินความไม่แน่นอนของอนาคตไว้ล่วงหน้า จากนั้นให้คาดเดาโอกาสและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น แล้วจึงเลือกทางเลือกที่คิดว่าตัวเองได้เปรียบมากที่สุด สุดท้ายให้แปลงเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อเขียนรายละเอียดของวิธีการที่จะทำภารกิจให้สำเร็จ แต่ยังไม่จบแค่นี้นะ แผนปฏิบัติการที่จะทำ มีแผนเดียวไม่พอ ต้องมีแผนสำรอง เพราะเราอาจเจอสถานการณ์ที่แผนหลักใช้ไม่ได้ เนื่องจากทุกวินาทีคือความไม่แน่นอน ไม่มีใครรับประกันได้ว่า แผนที่ดีที่สุดจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ และหลายครั้งภารกิจที่สำเร็จนั้น ก็มาจากแผนสำรองไม่ใช่แผนหลัก

 

พ่อพูดถึงคนในยุคนี้ว่า ต้องอยู่ให้เป็น โดยอยู่แบบใช้ปัญญา คือใช้ความคิดไตร่ตรอง รู้จักคาดคะเนถึงเหตุและผล ข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจะนำมาซึ่งการตัดสินใจลงมือทำภารกิจที่ตั้งเป้าไว้ ด้วยความถูกต้องและมีคุณค่าต่อตนเองและส่วนรวม

 

ดังนั้นการคิดแบบมีกลยุทธ์จึงเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนในยุคปัจจุบันเพื่อให้อยู่รอดได้ต่อไปในอนาคต โดยสรุปคือ

1) เวลาจะคิดอย่าคิดแบบเดียวให้คิดแบบมีทางเลือกหลายทาง โดยประเมินสถานการณ์ของตัวเอง คู่แข่ง และอนาคตที่ไม่แน่นอน

2) ต้องรู้จักคาดเดาโอกาสและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า อย่ามองแค่ข้อมูลในอดีตหรือปัจจุบัน

3) เลือกทางเลือกที่ได้เปรียบซึ่งมีคุณค่าต่อตัวเองและส่วนรวม

4) วาดแผนการให้เห็นเป็นรูปธรรม มีแผนหลักและแผนสำรอง กำหนดสิ่งที่ต้องทำและระยะเวลาให้ชัดเจน แล้วก็ลงมือทำตามแผนนั้นซะ

 

พ่อสรุปปิดท้ายว่า คนที่คิดอะไรเป็นระบบ รู้จักคาดเดาสถานการณ์ และปรับตัวให้เข้ากับแผนทุกแผนได้ตลอดเวลา คือคนที่มีการใช้ชีวิตแบบมีกลยุทธ์ ซึ่งคนชนะมักจะเป็นคนที่ “คิดก่อนไป ไม่ใช่ไปก่อนแล้วค่อยคิด” เพราะฉะนั้นทุกคนเลือกได้ว่า คิดล่วงหน้าหรือไป ตายเอาดาบหน้า

Ready to start your Leadership Journey?