Strategic Thinking

สามเดือนที่ผ่านมาปีนี้ ผมมีรีเควสต์หลักสูตร Strategic Thinking ให้กับองค์กรต่างๆ ค่อนข้างเยอะ

     ลองถาม HR ดูว่าทำไม คำตอบที่ได้คือ 1) สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศกำลังเริ่มพ้นวิกฤติ Covid-19 จึงต้องตั้งหลักกันใหม่ว่าจะไปต่ออย่างไร และ 2) พนักงานทำงาน Work From Home ในอัตราส่วนสูงขึ้น ทักษะการคิดเองได้และตัดสินใจเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

น่าคิด

เอาเป็นว่า วันนี้ผมขอเล่าสูตรวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ Strategic Thinking สู่กันฟังนะครับ

     หัวใจของการฝึกพนักงานให้ ‘คิดได้’ จากประสบการณ์ของผมมีอยู่สองจุด นั่นคือ Waze และ TOWS หากคนของคุณทำสองสิ่งนี้ได้ นั่นคือ 80% แล้วของการคิดเชิงกลยุทธ์

Waze เป็นการหยิบยืมกระบวนการคิดจากเจ้าแอพนำทางสุดเจ๋ง ผมชอบ 5 ข้อของมันมากๆ

1.Where are you now? ตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงไหน ถ้าเป็นรถ นั่นคือตำแหน่งที่เราอยู่ ถ้าเป็นองค์กร นั่นคือสภาพปัจจุบันของบริษัทเป็นอย่างไร ใครมี SWOT จุดอ่อนจุดแข็งเอาใส่ไปในข้อนี้ได้

2.Where do you want to go? แล้วที่หมายที่เราจะไปอยู่ตรงไหน จะเป็นห้าง ร้าน สำนักงาน หรือรีสอร์ต ถ้าในเชิงธุรกิจหมายถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กรในอนาคตข้างหน้า

3.How do we get there? What are the options? เวลาใช้แอพขับรถ มันจะนำเสนอเส้นทางให้เลือกหลายเส้น ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะไปถึงให้เร็วที่สุด ถูกที่สุด (เช่น ไม่ขึ้นทางด่วน) หรือกระทั่ง สวยที่สุด (เช่น เส้นทางวิวทัศน์แบบ Scenic) การทำแผนธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงทางเลือกและตัวแปรเหล่านี้ไม่ต่างกัน

4.How do we know if we are on track? ข้อนี้สำคัญมากทั้งเวลาขับรถและขับเคลื่อนองค์กร Waze แอพจะขึ้นเป็นเส้นทางสีน้ำเงินให้เราขับตาม หากออกนอกเส้นทางเมื่อไหร่ ระบบจะเตือนและปรับให้โดยอัตโนมัติ เช่นกัน ในองค์กรเราต้องกำหนด Key Performance Indicators (KPI) ที่สามารถบ่งชี้ว่า ‘รถ’ ของทีมเรายังอยู่บนเส้นทางที่วางไว้หรือเปล่า

5.Who do we need to keep informed? ฟังค์ชั่นนี้ผมชอบมากในแอพ นั่นคือมันมีปุ่มให้เรากดเลยว่าจะให้แจ้งใคร(เมีย)ว่าเราเดินทางถึงไหนแล้ว และจะถึงที่หมายกี่โมง ในองค์กร หลายครั้งเราลืมไปว่าแผนของเรากระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายด้าน ดังนั้นอย่าลืมแจ้งและอัพเดตพวกเขาอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกันว่างานไปถึงไหนแล้ว

 “I want to emphasize, the next time when you present your plans, to please follow this Waze model. It’s simple, clear, and effective.”

     CEO กล่าวในหนึ่งหลักสูตรซึ่งเพิ่งจบไป แกบ่นกับผมนอกรอบว่า การนำเสนอที่ผ่านมาแต่ละทีมสะเปะสะปะเยิ่นเย้อ พูดเกือบครึ่งชั่วโมง ใช้สไดล์ไปสิบกว่าหน้า ยังจับประเด็นไม่ได้เลยว่าต้องการสื่อสารกลยุทธ์ว่าอย่างไร

 

อีกเครื่องมือคือ TOWS Matrix จับเอาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรค มาตัดกันเป็นสี่ช่อง

1.Opportunity / Strength คือการใช้จุดแข็งขององค์กรในการจับโอกาสที่เห็นในตลาด เช่น แอร์เอเชียเปลี่ยนเป็น Capital A เพื่อใช้ข้อมูลลูกค้าที่มีขยายสู่ new ecosystem

2.Opportunity / Weakness คือการเร่งพัฒนาจุดอ่อนเพื่อให้ไม่พลาดโอกาส หรือบางทีต้องซื้อธุรกิจมาเสริม หรือควบรวมกิจการเพื่อสร้าง synergy

กระทั่งการเลือกไม่ทำบางเรื่องเพราะมันไม่เข้ากับความสามารถขององค์กร Strategy is to say No to 1,000 things”  เป็นกลยุทธ์ของสตีฟ จ็อบส์ เมื่อเขาตัดโมเดลต่างๆของแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์เหลือเพียง 4 โปรดักส์

3.Threat / Strength คือการดูว่าตลาดมีปัจจัยความเสี่ยงตรงใดบ้าง แล้วใช้จุดแข็งที่เรามีในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน เช่นบางประเทศฉวยภาวะสงครามในการค้าพลังงานและอาวุธ (พูดลอยๆ)

4.Threat / Weakness ช่องสุดท้ายมีไว้ดูแลความเสี่ยงอันตรงกับจุดอ่อน ซึ่งในทางกลยุทธ์เราต้องเร่งมือปิดเพื่อความอยู่รอด มิฉะนั้นองค์กรจะไปต่อไม่ได้ เช่น IBM ปรับมาเป็นบริษัท Service เป็นต้น

 

     ฉะนั้น ครั้งต่อไปที่องค์กรของคุณทำแผนกลยุทธ์ อย่าให้กิจกรรมนั้นหยุดอยู่แค่ SWOT ลองให้ทุกทีมใช้ Waze เป็นเฟรมเวิร์คเหมือนอย่างซีอีโอข้างต้นสั่ง และหลังทำจุดแข็งจุดอ่อนแล้ว จับมันเข้า Matrix ของ TOWS ด้วย เพื่อให้เกิดบทสนทนาเชิงกลยุทธ์อย่างแท้จริง

 

     อย่าเป็นอย่างหลายๆ องค์กรที่ผมเห็น คือใช้การประชุมเถียงกันว่าไอเดียของใครดีกว่า ใครโน้มน้าวใครได้เก่งกว่า ใครมีตำแหน่งสูงกว่า สมองส่วนหลังสร้างเหตุผลมาสนับสนุนสมองส่วนหน้าล้วนๆ

 

ยุคหลังโควิด คนของคุณคิดได้และตัดสินใจเป็นหรือยังครับ?

 

Ready to start your Leadership Journey?