กีฬาสอนผู้นำ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายการแข่งขันวิ่งเทรลระดับโลกที่เป็นความฝันของสายวิ่งไกล Ultra Trail du Mont Blanc (UTMB) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นโอลิมปิกเทรล โดยนักวิ่งเทรลระดับหัวกะทิจากทั่วโลกนับ 10,000 คน เดินทางมาร่วมผจญภัยวิ่งแบบข้ามวันข้ามคืน ปีนี้มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 167 คน และในปีนี้ ดิฉันได้มีโอกาสเป็น ทีมซัพพอร์ต (Support Crew) ให้กับนักวิ่ง 11 คน ทั้งระยะทาง 100 กิโลเมตรและ 171 กิโลเมตร บนความสูงกว่า 10,000 เมตร
สำหรับการวิ่งระยะทางไกลสุดขั้วนี้ ใช้เวลากว่า 46 ชั่วโมง มีหลายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การบาดเจ็บ อุปสรรคที่พวกเขาเผชิญระหว่างการแข่งขัน รวมถึงองค์ประกอบภายนอกที่นักวิ่งไม่สามารถควบคุมได้ และพวกเขาอาจต้องพึ่งพาทีมสนันสนุน หรือทีมซัพพอร์ต เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้ไปยืนที่เส้นชัย
คำว่า “ทีมซัพพอร์ต” อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ มีตั้งแต่คนสำคัญที่นักวิ่งรู้สึกว่าจำเป็นต้องพบที่จุดพัก เพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อเติมน้ำ เปลี่ยนอุปกรณ์ ไปจนถึงเพื่อนสองสามคนซึ่งแต่ละคนต่างก็วิ่งเคียงข้างนักวิ่งเพื่อช่วยส่งกำลังใจ ในบางกรณีจะรวมไปถึงทีมนักโภชนาการ และแพทย์ การอยู่ในทีมซัพพอร์ต สำหรับดิฉันรู้สึกสนุก ถือว่าได้เรียนลัด ผ่านบทเรียนชีวิตจากนักวิ่งทั้ง 10,000 คน ที่ทุกคนต้องวิ่งผ่านเข้ามาในจุดพัก (Check Point) ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย ได้เห็นเลือด หยาดเหงื่อ น้ำตา ความท้อแท้ ความสุข ความสมหวังของนักวิ่ง
ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้บริหารองค์กรที่โดยปกติผู้นำมักถนัด “สั่ง” ครั้งนี้ดิฉันได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ “สนับสนุน” ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำให้ทีมไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตพวกเขาเช่นกัน ผ่านข้อคิด 3 ข้อ
1. รู้แรงจูงใจของทีมงานแต่ละคน ไฟของนักวิ่งแต่ละคนแตกต่างกัน แม้จะยืนที่จุดปล่อยตัวเหมือนกัน แต่แรงบันดาลใจของพวกเขาต่างกัน การพูดคุยก็ลงแข่งเพื่อให้รู้แรงบันดาลใจของแต่ละคน จะนำออกมาช่วยกระตุ้นพวกเขาได้ดีที่สุดเมื่อเขากำลังตกหลุมดำ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวของพวกเขา มีเหตุการณ์ในชีวิตอะไรที่กระตุ้นให้เขาจบการแข่งขันนี้ พวกเขาต้องการการสนับสนุนแบบไหน ชอบโภชนาการแบบไหน หากนักเกิดวิ่งตกหลุมดำ ไม่อยากไปต่อ บางทีการได้กินใจสิ่งที่เขาชอบ เช่น โจ๊กคัพสักถ้วย กล้วยตากสักห่อ อาจช่วยเพิ่มไฟให้พวกเขาไปต่อ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับสัมภาระที่ต้องถือไปซัพพอร์ต แต่ท้ายที่สุด นั่นคือสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนเขาให้ไปต่อข้างหน้า
2.ฟัง ฟัง ฟังแม้ว่าบทบาทของทีมซัพพอร์ตจะอยู่ที่นั่นเพื่อให้กำลังใจนักวิ่งให้ไปให้ไกลและหนักกว่าที่พวกเขาคิด แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ต้องผลักดันพวกเขาจนได้รับบาดเจ็บ นั่งวิ่งระยะไกล มักเข้าจุดพักกลางทางมาด้วยความเหนื่อยล้า ทั้งบ่น ทั้งหาเหตุผลร้อยแปดที่จะหยุด การฟังความคิดเห็นของนักวิ่งอย่างถี่ถ้วน สำรวจสีหน้าท่าทาง เพื่อให้มั่นใจว่ากายของพวกเขายังปกติอยู่ ไม่ใกล้เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บสาหัสจริงๆ จะเป็นข้อมูลช่วยประเมินให้พวกเขาตัดสินใจไปต่อแบบไม่เป็นอันตราย
3.ให้ Feedback และพลังบวกที่เฉพาะเจาะจง สำหรับนักวิ่งระยะไกลสุดขั้ว ผ่านความอ้างว้าง อากาศหนาวเย็นมาทั้งคืน เวลาได้ยินคำว่า “ใกล้จะถึงแล้ว” “สู้ สู้” “คุณเก่งมาก” มันช่วยเติมพลังให้ก้าวขาได้เร็วขึ้น ยิ่งกว่านั้น การให้คำแนะนำจากทีมซัพพอร์ตที่เฉพาะเจาะจงช่วยสร้างประโยชน์ให้พวกเขาเอาชนะความอ่อนล้าที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น “ทำได้ดีมาก ตอนนี้อยู่ในกลุ่มท็อป 100 แล้ว” หรือ “ต้องเร่งฝีเท้าแล้วเพราะคุณอยู่ในกลุ่มสุดท้าย อีก 10 นาทีจะหมดเวลา ไม่งั้นไม่จบแน่”
46 ชั่วโมงผ่านไป ดิฉันกลับมารอที่หน้าเส้นชัย วินาทีที่เห็นนักวิ่งทั้ง 11 คนค่อยๆ วิ่งเข้าเส้นชัยมาทีละคน ดิฉันเองได้เรียนรู้ว่า การเป็นผู้นำที่ช่วยสนับสนุนทีม เราเองกลับได้รับความสุขอันเกิดจากการได้มีส่วนสร้างบรรยากาศ สร้างพลังสนับสนุนให้พวกเขาให้บรรลุเป้าหมายด้วยศักยภาพของพวกเขาเอง และดิฉันเองในฐานะทีมเบื้องหลังก็เกิดความภาคภูมิใจไม่แพ้นักกีฬาเช่นกัน