Social Pain

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดไปกรีดหิน”
จริงตามโบราณหรือเปล่าว่การถูกเหยียดหยามทางสังคมนั้น ‘ไม่ชอกช้ำ’

 

มีงานวิจัยงานหนึ่ง ทดลองด้วยการให้ผู้ร่วมโครงการ เล่นเกมออนไลน์ โดยเกมนี้ เป็นการโยนลูกบอลไปมาระหว่างผู้เล่น 3 คน โยนไปสักพัก พอเพลินๆผู้เล่นคนหนึ่งจะถูก ‘ตัด’ ออกจากเกมซะเฉยๆ กล่าวคือเพื่อนอีกสองคนจะเลิกเล่นด้วย ไม่โยนบอลให้ กลับไปโยนกันเองอยู่แค่สองคน


อ้าว…แล้วนักวิจัยจัดการเอาคนที่ถูกตัดออกจากเกมไปสแกนดูว่าในสมองเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างนั้นผลคือ สมองของคนที่เกิดประสบการณ์ Social Pain นั้น มีการตอบสนองคล้ายๆกับความเจ็บปวดเวลาเราเจ็บตัว เช่นถูกมีดบาด หรือเตะโต๊ะ เป็นต้น หากดูแค่สแกนสมองเฉยๆ โดยไม่บอกว่าเจ้าตัวกำลังประสบเหตุการณ์อะไร เราอาจบอกไม่ได้ว่าคนๆ นี้กำลัง ‘เจ็บตัว’ หรือ ‘เจ็บใจ’

 

นักวิจัยอีกทีมหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ทดลองต่อไปว่า แล้วถ้าอย่างนั้นยาแก้ปวดล่ะจะสามารถแก้ปวดใจได้ไหม? พวกเขาแบ่งคนที่มี Social Pain เป็นสองกลุ่ม แล้วทดลองให้กินยาไทลินอล เพื่อดูว่าจะเกิดผลอย่างไรต่อความรู้สึกแย่ๆที่มี ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่กลุ่มที่กินยาไทลินอล สามารถลดความเจ็บปวดทางจิตใจได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน ซึ่งคอนเฟิร์มอีกครั้งด้วยผลการสแกนสมอง ที่วัดค่าความเจ็บปวดลดลงในคนกลุ่มนี้


ข้อมูลเหล่านี้บอกเราว่า เจ็บตัวกับเจ็บใจ ‘ชอกช้ำ’ คล้ายๆกัน แถมมีข้อมูลเสริมอีกด้วยว่า เวลาเรานึกถึงความเจ็บใจที่เคยเกิดขึ้น เราจะรู้สึกเจ็บเหมือนเดิม (ลองนึกถึงคนรักเก่าที่ถูกแย่งไปสิครับ) แต่เวลาเรานึกถึงตอนที่มีดเคยบาดมือเมื่อปีกลาย เรากลับรู้สึกเฉยๆไม่ยักเจ็บ

แปลว่า ‘เจ็บใจ’ อาจจะแย่กว่า ‘เจ็บตัว’ ด้วยซ้ำไป

งานวิจัยอีกฉบับจาก Psychological Medicine พบว่า วัยรุ่นซึ่งมีอาการซึมเศร้า รับมือกับคำตำหนิจากพ่อแม่ได้แย่กว่าวัยรุ่นที่ไม่มีอาการเดียวกัน นอกจากนั้น พวกเขายังตอบสนองกับคำชมของพ่อแม่ได้น้อยกว่าด้วย งานวิจัยเดียวกันยังระบุเพิ่มว่า อาการซึมเศร้านั้นพบมากกว่าในวัยรุ่นซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงลบกับพ่อแม่

ฝากข้อมูลเชิงบริหารก่อนจาก แล้ว Social Pain เกิดจากอะไรได้บ้าง? ผมขอแชร์โมเดล F.E.A.R.S. ซึ่งประยุกต์จากข้อคิดต่างๆเชิง Brain-Based Leadership

F.E.A.R.S. แปลว่าสิ่งที่สมอง ‘กลัว’

F คือ Fairness สมองมนุษย์ตอบสนองต่อความยุติธรรม หากมีอะไรที่ไม่แฟร์ ขนาดไม่ใช่เรื่องของเรา เรายังรู้สึกเจ็บปวด

E คือ Expected สมองมนุษย์ชอบรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่รู้หรือไม่แน่ใจ สมองไม่ชอบ

A คือ Autonomy สมองมนุษย์ต้องการสิทธิในการเลือก หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก สมองจะต่อต้าน

R คือ Relatedness สมองมนุษย์วางใจคนที่เป็นพวกเดียวกันมากกว่าคนที่ต่างพวก ตัวนี้สำหรับคนไทยมีน้ำหนักเป็นพิเศษ

S คือ Status สมองมนุษย์วัด Pain จากสถานะของตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นรอบตัว เวลาเรารู้สึกสูงกว่า เรารู้สึกดี เวลาเรารู้สึกต่ำกว่า เรารู้สึกแย่

ดังนั้น เวลาผู้บริหารทำอะไร ลองพิเคราะห์ด้วยโมเดลนี้ก็ได้ครับ หลายเรื่องที่ทำ แม้อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็สร้าง Social Pain ให้กับคนรับได้เหมือนกันเช่น ประโยคติดปากหัวหน้าหลายคน “พี่บอกแล้วใช่ไหมว่าเธอไม่ควรทำแบบนั้น” ได้ยินปุ๊บ Social Pain ลูกน้องขึ้นปั๊บ ไม่แฟร์ ไม่แน่ใจ ไม่มีทางเลือก ไม่มีพวก และไม่มีที่ยืน

ซึ่งหากผู้พูดเข้าใจการทำงานของสมอง อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคนในความดูแลได้ดีขึ้น หรือไม่ เตรียมไทลินอลไว้แจกลูกน้องเยอะๆ ก็น่าจะใช้ได้เหมือนกันครับ

 

 

Ready to start your Leadership Journey?