พี่เลี้ยงกลับด้าน (Reverse Mentoring)

ระบบพี่เลี้ยงเป็นระบบที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่ากับพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย โดยพี่เลี้ยงหรือผู้ที่มีประสบการณ์สูงจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ผู้สอนงาน และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการทำงานให้กับพนักงานที่อ่อนประสบการณ์

 

ระบบพี่เลี้ยงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการจัดการความรู้ ในแง่ของการถ่ายทอดความรู้ระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าและเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์น้อยกว่า เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ความรู้ยังคงอยู่ในองค์กรตลอดเวลา และเป็นการดักจับความรู้ ก่อนที่จะสูญหายหรือออกไปเป็นผู้แข่งขัน เนื่องจากวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่ดีที่สุด คือการที่บุคคลได้พูดคุยกับอีกคนหนึ่ง การถ่ายทอดความรู้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กร ที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงาน การให้ความรู้ลื่นไหลไปยังทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่ความอยู่รอดขององค์กรและธุรกิจ

 

“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ได้พูดถึง เรื่องของระบบพี่เลี้ยง ไว้อย่างน่าสนใจ เขาเล่าว่า จากการรับพนักงานใหม่มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัว (Personal Assistant – PA) แทนผู้ช่วยคนเดิม ที่เติบโตโยกย้ายไปทำงานอื่น ซึ่งปกติหลายๆ องค์กร พนักงานใหม่ มักได้รับการมอบหมายให้มี “พี่เลี้ยง” (Mentor) เพื่อช่วยแนะนำให้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้เร็วขึ้น

“แต่ผมทำแตกต่างจากองค์กรอื่นนิดหน่อยตรงที่ นอกจากมอบหมาย “พี่เลี้ยง” ให้พนักงานใหม่แล้ว ยังมอบหมายให้น้องใหม่เป็นพี่เลี้ยงผมด้วย ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า “พี่เลี้ยงกลับด้าน” (Reverse Mentoring) คือ แทนที่ผมจะเป็นพี่เลี้ยงให้น้อง น้องต้องเป็นพี่เลี้ยงให้ผมครับ”

 

ทำไมต้องทำเช่นนั้น ?

 

คำตอบไม่ยาก ทุกวันนี้เราต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่มากมาย ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยและความเข้าใจความต้องการของคนที่มีอายุต่างกัน เป็นปัญหาที่สร้างความปวดหัวในทุกองค์กร

 

การมีน้องใหม่ ที่มีอายุต่างจากเรามาก ๆ มาเป็น “ครู” ให้ นอกจากจะเป็นการลดอัตตา (Ego) ของตัวเองแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากคนรุ่นใหม่ ที่บางครั้งไม่เคยสำเนียก เช่น ทุกวันนี้พวกเขาสนใจเรื่องอะไร ชอบไปเที่ยวที่ไหน ดาราหรือเน็ตไอดอล ที่ชื่นชอบคือใคร แฮชแท็ก (#) ที่ติดตามคืออะไร เป็นต้น

 

“ทุก ๆ เช้าวันจันทร์ ผมมีนัดที่จะพูดคุยกับผู้ช่วยส่วนตัว (PA) คนใหม่ของผม เพื่อมอบหมายและติดตามงาน หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่น้องต้องสอนผมสักเรื่อง ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผม เชื่อไหมครับว่า ทุก ๆ อาทิตย์ ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ ทำให้เข้าใจวิธีคิด มุมมอง และความสนใจของเด็กรุ่นใหม่โดยปริยาย”

นอกจากนั้น ผลพลอยได้ของ “พี่เลี้ยงกลับด้าน” คือ การมีโอกาสได้แอบดูศักยภาพของน้องใหม่ด้วยว่า เขามี “กึ๋น” ขนาดไหน เลือกเรื่องอะไรมาสอน ทักษะการสื่อสารเป็นอย่างไร ความสามารถในการเรียบเรียงเรื่องราวเจ๋งขนาดไหน ฯลฯ

เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัวเลยทีเดียว

Ready to start your Leadership Journey?