Residence Pass - Talent

ประเทศไทยต้องดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาให้ได้ 5 ล้านคน สร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก mgronline.com/business/detail/9630000053927

 

เนื้อหาอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ “เจ้าสัวธนินท์” คุณ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรื่องการดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาสร้างธุรกิจใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจในประเทศไทย ใจความว่า หากประเทศไทยปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย และสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดนักลงทุน คนเก่ง นักวิทยาศาสตร์สัก 5 ล้านคนมาเมืองไทย จะเพิ่มภาษีให้ประเทศกว่า 5 ล้านล้านบาทต่อปี

 

ผมอ่านแล้วนึกถึงกระบวนการที่ตัวเองกำลังดำเนินอยู่ เรียกว่า Residence Pass – Talent หรือตัวย่อคือ RP-T แปลเป็นไทยคงประมาณว่า บัตรประชาชน(ชั่วคราว)ของคนเก่ง

 

เกริ่นนิดหน่อยนะครับ โดยทั่วไปหากเราไปทำงานต่างประเทศในสถานะ Expatriate (Expat) เช่นผม บริษัทในประเทศที่ดึงเราเข้าไปจะเป็นเจ้าภาพในการเดินเรื่องขออนุญาตให้เข้าไปทำงาน และชีวิตเราก็จะผูกอยู่กับบริษัทนั้นๆ หากหมดสัญญา เค้าให้ออกจากงาน หรือลาออกเอง ก็เท่ากับว่าต้องกลับบ้านโดยปริยาย จนกว่าจะมีบริษัทใหม่หลวมตัวมาจ้างให้เราเข้ามาอีก

 

ตานี้ทางการมาเลเซียเล็งเห็นว่า อุตส่าห์ดึงเข้ามาได้แล้ว ก็ควรพยายามดึงคนเก่ง (Talent) เหล่านี้ให้อยู่ในประเทศต่อไปอีกนาน ๆ แม้จะไปทำงานองค์กรอื่นก็ไม่เสียหาย จึงออกมาตรการดังกล่าวมา

 

RP-T นี้มีคือวีซ่า 10 ปี แบบยื่นต่ออายุได้ สิทธิ์ที่ได้รับคือสามารถเป็นชาวต่างชาติ(และครอบครัว)ซึ่งทำงานในประเทศได้โดยอิสระ ไม่ต้องยึดกับนายจ้าง จะออกจะเข้าทำงานที่ไหนก็ได้ แนวคิดการ ‘ดึงคนเก่งจากทั่วโลก’ ของคุณธนินท์เป๊ะ

 

ลองมาดูรายละเอียดกันนิดว่า การสมัครและกระบวนการขออนุญาตนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผมเพิ่งจะยื่นไปสดๆร้อนๆ อ้างอิงจาก https://rpt.talentcorp.com.my/

 

อย่างแรกคือ คนจะสมัครขอไอ้เจ้าบัตรที่ว่าได้เนี่ย ต้องทำงานประจำในประเทศมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเต็ม อยู่ในอุตสาหกรรมอันเป็นที่ต้องการ และได้รับเงินเดือนอย่างน้อย 110,000 บาท นัยก็คือถ้าอยู่มาได้ขนาดนี้ด้วยอัตราค่าจ้างขนาดนี้ เอ็งก็คงต้องมีอะไรดีบ้างละ(วะ)

 

หากผ่านเกณฑ์ข้างต้นไปได้ ก็เตรียมตัวยื่นเอกสาร ประกอบด้วย

  1. สำเนาหนังสือเดินทาง ต้องสำเนาตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย สิ่งสำคัญที่เค้าอยากดูคือหลักฐานการเดินทางเข้าออกประเทศ ฉะนั้นในบางประเทศเช่นมาเลเซีย มี e-Gate ไม่มีการประทับตรายางในเล่ม ผมจึงต้องแนบเจ้าสลิปเล็กๆที่เครื่องมันปริ้นท์ออกมาให้ไปด้วย ใครเดินทางด้วยวิธีนี้เก็บไว้ให้ดีอย่าโยนทิ้ง
  2. Resume / Curriculum Vitae ประวัติการทำงาน อันนี้ตรงไปตรงมา
  3. ประกาศนียบัตร ใบปริญญา อะไรต่อมิอะไรที่โชว์ว่าเราก็มีของ
  4. รูปถ่ายพื้นหลังสีฟ้า อย่างบ้านผมก็ต้องถ่ายกันทุกคนพ่อแม่ลูก
  5. Job Descriptions รายละเอียดความรับผิดชอบในหน้าที่การงานปัจจุบัน ใบนี้ต้องขอจากบริษัท
  6. หลักฐานการยื่นภาษี 2 ปีย้อนหลัง (เมื่อเราทำงานประจำมา 3 ปี ดังนั้นควรมีอยู่แล้ว)
  7. สัญญาจ้างงาน ต้องขอจากบริษัทเช่นเดียวกัน เพราะต้องตรงกับตัวที่เค้าเคยยื่นไว้ตอนรับเรา
  8. สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
  9. No Objection Letter จดหมายยืนยันว่าบริษัทไม่คัดค้านการยื่นของเรา ค่อนข้างซีเรียส เพราะหลังจากส่งไปแล้ว ทางเจ้าหน้าที่โทรไปเช็คกับ HR ที่เป็นคนเซ็นอีกด้วย
  10. อันนี้แปลกดี ต้องมีจดหมายรับรองจาก Local contact person คือชาวมาเลเซียสักคนที่ ‘ค้ำประกัน’ เราได้ ฉะนั้นควรหาเพื่อนเจ้าของชาติไว้ด้วย ถ้าจะให้ดีควรมีโปรไฟล์น่าเชื่อถือสักหน่อย
  11. สุดท้ายเป็น จดหมายแนะนำ Reference letter เป็นออพชั่นไม่ได้บังคับ แต่ถ้ามีเส้นมีสาย มีลูกค้ามีคู่ค้าเขียนรับรองเราหรูหราหน่อยก็จะเพิ่มบารมีให้ใบสมัครของเราขึ้นไปอีก
  12. อ้อ หากมีครอบครัวมาอยู่ด้วย ก็ต้องเพิ่ม สำเนาทะเบียนสมรส สำเนาสูติบัตรบุตร ตรงนี้ยุ่งนิดนึงเพราะต้องใช้ตัวแปลที่รับรองจากกระทรวงต่างประเทศ และเอาไปยื่นให้ประทับโดยสถานทูตที่นี่อีกที ไม่งั้นเค้าไม่รับ คงกลัวผีน้อย

 

ผมชอบที่สุดคือกระบวนการยื่นคือรัฐบาลเค้า Outsource ให้กับเอเจนซี่ชื่อ TalentCorp ซึ่งทำงานทันสมัยและเป็นระบบมาก ๆ ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมด เอกสารส่งเป็น pdf ไม่ต้องไปด้วยตัวเองจนกว่าจะถึงกระบวนการนำหนังสือเดินทางไปประทับวีซ่าใหม่ จ่ายค่าธรรมเนียมทางเน็ต แถมมี chat บริการ อยากถามอะไร ตามเรื่องอะไร เขียนไปไม่เกินห้านาทีมีคนมาตอบ

 

นี่ผมเองก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าเป็น ‘คนเก่ง’ ที่เค้าอยาก ‘ดึง’ หรือเปล่า ได้ความอย่างไรแล้วจะมาเล่าสู่คุณผู้อ่านฟังนะครับ

Ready to start your Leadership Journey?