ย้ายบ้าน Repatriation

     แน่นอน ชีวิตของการเป็น Expat คือการย้ายที่อยู่ไปมาระหว่างประเทศ ซึ่งกรณีของบ้านผมคือการกลับเมืองไทย กลางเดือนมิถุนายนนี้  โดยทั่วไป คนส่วนมากจะมีสองระบบ คือส่งของกลับทางเรือซึ่งเป็นปริมาณส่วนใหญ่ กับนำของขึ้นเครื่องบินเช็คอินไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นปริมาณน้อยเท่าที่จำเป็น  หากเป็นเพื่อนๆ ที่ทำงานสถานทูต ชีวิตก็จะง่ายหน่อย เพราะเขาวางกระบวนการไว้อย่างดี เช่น พวกเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน หลายๆ อย่างเป็นแพ็กเก็จที่สถานทูตมีเตรียมไว้ให้ไม่ต้องขนย้าย กระทั่งเครื่องมือเครื่องใช้ประทังชีวิตหลังจากของถูกส่งไปหมดแล้วก็มีพอให้อยู่รอการเดินทางได้ไม่ลำบากนักแต่ถ้าเป็นพนักงานบริษัทตาดำๆ อย่างผม แม้ค่าใช้จ่ายจะได้รับการดูแล แต่การวางแผนย้ายของ การนัดหมาย การจัดการของว่าจะส่งอะไรอย่างไรเท่าไหร่ จะกำจัดอะไร จะเก็บอะไร เป็นสิ่งที่ต้องดูแลเองทั้งสิ้น

     วันนี้ ผมเลยขอเอาเรื่องเบาสมองที่บ้านเราเพิ่งเผชิญมา แทรกเรื่องบริหารจัดการหนักๆ ที่ลงติดกันมาสองสามสัปดาห์แล้วบ้าง หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1.ขายก่อนได้เปรียบ หากมีอะไรที่เป็นความพิเศษของครอบครัวผม ก็คงต้องบอกว่าเราเป็นพวกบ้าวางแผนครับ จะเที่ยว จะกิน จะนอน จะขนของกลับไทย ผมกับเพชรวางแผนล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ กรณีนี้ ที่สำคัญมากคือกระบวนการขายของ เพราะแม้บริษัทจะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ก็มีกำหนด ไม่ใช่ใคร่จะขนอะไรก็ขนไป และบ้านที่เมืองไทยก็มีขนาดจำกัด เอาไปเยอะก็ต้องหาที่เก็บเยอะ เราจึงวางแผน ขาย ขาย และขายทุกอย่างออกไป 

   เทคนิคการขายที่เล่าสู่กันฟังได้คือ ต้องฉวยโอกาสขายก่อนคนอื่นจะขาย ชีวิตครอบครัว Expat ส่วนมากจะเป็นวัฎจักรตามการปิดเปิดเทอมของลูก ดังนั้นช่วงเวลาที่ตลาดจะชุกมากคือตั้งแต่ 2 เดือนนับถอยหลังมาจากวันโรงเรียนปิด บ้านผมเริ่มขายของออกไปตั้งแต่ 5-6 เดือนล่วงหน้า ทั้งโต๊ะกินข้าว เก้าอี้ เตียง โต๊ะพูล เครื่องออกกำลัง ตู้เสื้อผ้า รถยนต์ ฯลฯ การระบายของจึงไม่ยากเย็นนัก แต่เพื่อนๆ ที่รอมาขายช่วงหลัง บ่นกันอู้ว่าหันไปทางไหนก็เจอแต่คนขายไม่มีคนซื้อ  ในมุมกลับกัน ใครเป็น Expat ที่เพิ่งย้ายมา แนะนำกลับกันว่าไม่ต้องรีบซื้อของใหม่ให้เปลืองเงิน ควรรอช่วงคนร้อนรนขายของก่อนย้าย ยิ่งช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อนโรงเรียนปิด ทั้งลด แลก แจก และแถม ทั้งบ้าน ทั้งรถ ทั้งสิ่งของ กระทั่งสัตว์เลี้ยง ขนาดประกาศให้คนมาช่วยยกออกไปโดยไม่ต้องมีค่าตอบแทนก็มี

2.ใช้บริษัทขนย้ายเป็นตัวช่วย โลกนี้มีคนย้ายงานข้ามประเทศไปมากันเป็นว่าเล่น ฉะนั้นธุรกิจซึ่งตั้งขึ้นมารองรับการขนของก็มีให้เลือกหลายต่อหลายแห่ง เที่ยวกลับนี้ผมใช้บริการบริษัทเดิมเพราะไม่ได้ประสบปัญหาอะไรยามขามา กระบวนการก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ติดต่อเขาไปว่าต้องการย้ายจากประเทศไหนไปประเทศไหนภายในเมื่อไหร่ เขาก็จะแจ้งมาว่าจะให้เข้ามาประเมินปริมาณของได้วันไหน พอมาก็มีไอแพดมาเดินตามเรารอบบ้าน แล้วจิ้มๆๆๆ ว่าของที่จะส่งนั้นชิ้นไหนบ้าง เพื่อคำนวณตัวเลขคร่าวๆ ให้เราดูว่าค่าใช้จ่ายจะประมาณเท่าไหร่ รวมประกันสินค้าเสียหายเสร็จสรรพ 

   เทคนิคใหม่ที่บ้านผมใช้ในเที่ยวขากลับนี้คือ ขอให้เค้าส่งกล่องล่วงหน้ามาให้เราแพ็ค ซึ่งสะดวกต่อการวางแผนกว่ารอให้มาเก็บทีเดียววันส่ง กรณีนี้ เราสามารถค่อยๆ ละเลียดลำเลียงของลงกล่องได้ตามอัธยาศัย แค่อย่าปิดฝาซีลเพราะต้องตรวจประเภทของก่อนปิดหีบ กล่องชนิดที่มีประโยชน์เป็นพิเศษคือกล่องตู้เสื้อผ้า (ก็คือตู้เสื้อผ้านี่แหละครับแต่ทำจากกล่อง) เอาเสื้อกางเกงสูท เดรสแขวนบนไม้แขวนได้เลยไม่ต้องพับให้ยับ กล่องหนึ่งน่าจะได้ประมาณ 20-30 ชุด สะดวกดีมาก

3.อย่าลืมคิดเรื่องเวลา เวลาส่งของอย่าลืมว่าเราต้องส่งมันไปก่อนวันออกเดินทาง ไม่แนะนำให้แพลนว่าบริษัทจะแพ็คของเสร็จ ส่งคืนบ้าน และออกเดินทางไปสนามบินในวันเดียวกัน โอกาสที่คุณจะตกเครื่องสูงมาก เช่นบ้านผมแม้บริษัทประเมินว่าแพ็ควันเดียวก็เสร็จ เอาเข้าจริงๆ ใช้ถึง 2 วันเต็ม ดังนั้นผมแนะนำว่าส่งของไปก่อนเลยสักสองสัปดาห์ เก็บบ้านเช่าส่งมอบคืนให้เรียบร้อย จัดการบัญชีค่าใช้จ่ายคงค้าง แล้วออกไปเช่าโรงแรมหรือ Airbnb อยู่สักอาทิตย์ก่อนวันบินจริง ชีวิตจะมีเรื่องให้เครียดน้อยลงเยอะเลย

อีกหนึ่งสัปดาห์พบกันครับ Thailand!

 

Ready to start your Leadership Journey?