ตั้งคำถามเป็น…ลูกน้องเปลี่ยน (ทักษะการตั้งคำถามเพื่อพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา)

ผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีหน้าที่แค่สั่งให้ลูกน้องทำเท่านั้น แต่ต้องตั้งคำถามให้คิดด้วย “การตั้งคำถามที่ชาญฉลาด” จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรให้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆได้ด้วยตนเองและอาจมีส่วนช่วยให้เกิดการค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกด้วย แต่คำถามนั้นต้องเข้าใจง่าย ค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เปิดแนวความคิดสร้างสรรค์ ทางเลือกใหม่ๆ และสร้างความอยากรู้อยากเห็น

หากผู้นำต้องการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้สมองตอบคำถามด้วยเหตุและผล ต้องใช้หลักการตั้งคำถามของนักปรัชญาชาวกรีกที่ชื่อ โสเครติส เจ้าของสไตล์การยั่วให้คิดหาคำตอบด้วยตนเอง โดยมีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิด ตั้งคำถาม ต่อด้วยคำถามไปเรื่อยๆ จนกระทั่งค้นพบคำตอบที่ยอมรับได้ และเป็นที่สิ้นสุด แบ่งได้ 6 แบบ ดังนี้

  1. ถามเพื่อหาความกระจ่างชัด (Conceptual Clarification Questions) เช่น ทำไมคุณจึงคิดเช่นนั้น สิ่งที่คุณพูดหมายความว่าอย่างไร
  2. ถามเพื่อพิสูจน์ความเชื่อ (Probing Assumptions) เช่น คุณเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้หรือไม่ เพราะอะไร คุณจะหักล้างความเชื่อเรื่องนี้อย่างไร
  3. ถามเพื่อเจาะหาเหตุผลและหลักฐาน (Probing Reasons and Evidence) เช่น ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรคือสาเหตุของปัญหานี้ มีหลักฐานอะไรบ้างที่ทำให้คุณเชื่ออย่างนั้น
  4. ถามเพื่อท้าทายทัศนคติและมุมมอง (Questioning Viewpoints and Perspectives) เช่น อะไรคือจุดอ่อนและจุดแข็งของเขา ทำไมจึงคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด คุณคิดว่าจะมีทางเลือกอื่นอีกไหม
  5. ถามเพื่อพิสูจน์ความหมายโดยนัยและผลกระทบ (Probing Implications and Consequences) เช่น อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณตัดสินใจแบบนั้น ผลลัพธ์ที่คุณคาดหวังคืออะไรและหากผิดคาดคุณจะรับมือกับมันอย่างไร
  6. ถามเกี่ยวกับคำถาม (Questions about the Question) เช่น คุณรู้ไหมว่าทำไมผมจึงถามคำถามนี้กับคุณ คุณคิดว่าคำถามนี้มีประโยชน์กับคุณอย่างไร

ถ้าคุณถามเป็น ลูกน้องคุณจะเปลี่ยน ลองใส่ใจกับการถามให้มากกว่าการสั่งหรือบอกซิครับ คุณจะเห็นการพัฒนาของผู้ใต้บังคับบัญชา เขาจะเห็นศักยภาพในตัวเองและทึ่งในสิ่งที่เขาคิดหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง

Ready to start your Leadership Journey?