"พลังของอำนาจ" ในที่ทำงาน ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง

พลังของอำนาจ” ในที่ทำงาน ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง

 

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากงานวิจัยพบว่า ความรู้สึก (Perception) ว่าผู้บริหารคนไหนมีอำนาจมากกว่ากัน มีผลต่อการติดต่อสื่อสารและเชื่อฟังคำสั่ง และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตำแหน่ง (Position) มีผลน้อยกว่าความรู้สึก (Perception)

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการ (Director) ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่าผู้บริหารระดับผู้จัดการ (Manager) แต่พนักงานอาจมีความรู้สึก (Perception) ว่าผู้จัดการบางท่าน มีอำนาจ (Power) มากกว่าผู้อำนวยการบางท่าน ก็เป็นได้

นักจิตวิทยา 2 คนชื่อ John R.P. French Jr. และ Bertram Raven ได้ทำการศึกษาและแบ่งแยกอำนาจ (Power) ในสังคมและในองค์กรออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 และหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี Bertram Raven ได้ทำงานวิจัยเพิ่มเติมและเพิ่มกลุ่มที่ 6 เข้าไป

Power ทั้ง 6 กลุ่มประกอบไปด้วย

  1. Coercive power อำนาจที่มาจากการบังคับหรือให้โทษได้ หากไม่ทำตาม เช่น นาย ก ยอมทำตามคำสั่งของนาย ข เพราะรู้สึกว่า ถ้าไม่ทำตาม นาย ข อาจทำอันตรายหรือให้โทษกับตนได้
  2. Reward power อำนาจที่มาจากการให้ประโยชน์หรือให้คุณได้ เช่น นาย ก ยอมทำตามคำสั่งของนาย ข เพราะรู้สึกว่า ถ้าทำตามที่นาย ข ต้องการ จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและได้รางวัลอย่างงาม
  3. Legitimate power อำนาจที่มาจากกูฏกติกาหรือข้อกำหนดซึ่งให้อำนาจไว้ เช่น นาย ข มีอำนาจตามประกาศของบริษัทในการดูแลเรื่องความปลอดภัย จึงมีอำนาจที่จะตรวจค้นกระเป๋าและสัมภาระของนาย ก
  4. Referent power  อำนาจที่มาจากความรัก ความศรัทธา หรือความเคารพเป็นการส่วนตัว เช่น นาย ก ยินดีทำตามความต้องการของนาย ข เพราะนาย ข มีบุญคุณเคยช่วยเหลือนาย ก มาก่อน
  5. Expert power อำนาจที่เกิดจากความเก่ง ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ เช่น นาย ก ยอมเชื่อฟังและทำตามสิ่งที่นาย ข แนะนำ เพราะรู้สึกว่านาย ข เป็นคนเก่ง มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จมาก่อน
  6. Informational power  อำนาจที่เกิดมาจากการมีข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูล เช่น นาย ก ยอมยกเลิกความคิดของตนเองและทำตามสิ่งที่นาย ข บอก เพราะนาย ก รู้สึกว่านาย ข มีข้อมูลมากกว่าที่ตนมี

ข้อสรุปของงานวิจัยนี้ที่น่าสนใจก็คือ ความรู้สึก (Perception) ที่คนอื่นมีต่อเรา มีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งที่เรามี แปลความให้เข้าใจง่ายๆ คือ ไม่ว่าตำแหน่งจะสูงเพียงใด ไม่ได้หมายความเราจะมีอำนาจตามตำแหน่งนั้นๆ เพราะอำนาจ คือสิ่งที่คนอื่นรู้สึกต่อเราและคิดว่าเรามี(อำนาจ)มากหรือน้อยเพียงใด

Ready to start your Leadership Journey?