พลัง Gen Z  

เมื่อวาน ดิฉันไปงานเลี้ยงรุ่น คงไม่ต้องเดา 80% ของเรื่องที่คุยหนีไม่พ้นเรื่องเลือกตั้ง!

 

มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขา Unfriend รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยและที่ทำงานไปหลายสิบคน เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และลงท้ายด้วยคำว่า “เบื่อเด็ก!”

 

“ถามเยอะ แต่ทำนิดเดียว…เบื่อเด็ก!”

 

เสียงบ่นจากพี่ ๆ ที่ได้เริ่มทำงานกับน้องใหม่ไฟแรงเจน Z ที่เพิ่งออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างเป็นทางการในปีนี้

 

เชื่อไหมคนเจน Y (เกิดพ.ศ. 2523 – 2543) ที่เคยถูกบ่น วันนี้ 83% ของคนเจน Y ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารองค์กรกันแล้ว และตอนนี้พวกเขาเองกลับเริ่มบ่นน้องใหม่เจน Z 

 

การศึกษาเกี่ยวกับเจนเนอเรชั่นเบนมาให้ความสนใจเจนเนอเรชั่นน้องใหม่ เจน Z และหลายต่อหลายคนอยากรู้พฤติกรรมของเด็กเจนนี้ในฐานะคลื่นลูกใหม่ เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า 75% ของคนทำงานจะเป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้

 

บริษัท BridgeWork ผู้ศึกษาด้านเจนเนอเรชั่นมากว่า 20 ปี ทำการสำรวจคนเจน Z พบพฤติกรรมการทำงานที่น่าสนใจ 3 อย่าง

 

  1. อยากรู้อยากเห็น เติบโตในยุคที่มีอินเตอร์เน็ตทุกที่ นั่งอยู่ที่ไหน สงสัยอะไร เพียงคลิกก็ค้นหาข้อมูลที่อยากรู้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะผ่าน Google หรือ YouTube   พวกเขาจึงไม่ได้เติบโตมาแบบต้องคอยถามพ่อแม่ทุกเรื่อง จึงมีแนวคิดและความสนใจเรื่องสังคมและการเมืองเป็นของตนเอง เมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน พวกเขาจึงต้องการรู้ข้อมูลทุกอย่างก่อนเริ่มงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หาไม่ได้ในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในบทบาทหน้าที่ของเขา เส้นทางเติบโต วิธีขึ้นเงินเดือน ทำอย่างไรจะได้เลื่อนตำแหน่ง เขาจึงต้องถาม ถาม ถาม 

 

  1. ไม่ชอบความเสี่ยง เด็กกลุ่มนี้เติบโตมาจากพ่อแม่เจน X และผ่านยุคที่เห็นความรุนแรงของโลกมานับครั้งไม่ถ้วน พวกเขาโตมากับคำว่า Disruption ได้เห็นองค์กรยักษ์ใหญ่ที่เคยสำเร็จในอดีตแต่กลับต้องปิดตัวกันระนาว ได้ยินข่าวการปลดพนักงาน ธนาคารลดสาขา สื่อปิดตัว พวกเขาจึงเรียนรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ปลอดภัย เศรษฐกิจอาจล่มเมื่อไหร่ก็ได้  พวกเขาจึงมองหาที่ทำงานที่มั่นคงปลอดภัยต่ออนาคตและดีพอที่จะทำให้เขามีความสุขกับปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า พวกเขาอยากอยู่ในองค์กรหนึ่งนานถึง 11 ปี ซึ่งต่างกับเจน Y ที่ตั้งเป้าจะอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่เกิน 5 ปี

 

  1. ทำอะไรทำเต็มที่ คนเจน Z ชอบแข่งขัน ตั้งคำถามเยอะ เมื่อถามเยอะ พี่ ๆ ก็คาดหวังว่างานต้องออกมาเจ๋งแน่นอน แต่สุดท้ายอาจจะผิดหวังเพราะน้อง ๆ คิดเยอะ กลัวความล้มเหลว กลัวความผิดพลาด

 

 

มีผู้บริหารหลายคนพยายามถามดิฉันว่า เด็กเจน Z เป็นอย่างไร และต้องบริหารอย่างไร ในวันนี้คงตอบได้ยาก เพราะคนที่อายุมากที่สุดของเจน Z ตอนนี้อายุเพียง 23 ปี​และพวกเขาเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาและเรียนรู้โลกใบนี้อยู่เช่นกัน  แต่สิ่งที่ตอบได้แน่นอนที่สุดก็คือ เจน Z กำลังค่อย ๆ ทยอยเข้าองค์กรและแน่นอนที่สุดเขากำลังเป็นคนกลุ่มใหญ่ในองค์กร ดังนั้นไม่ว่าจะในแง่การเมืองหรือองค์กร เสียงของพวกเขาสำคัญต่ออนาคตของชาติอย่างแน่นอน 

Ready to start your Leadership Journey?