ปณิธานปีใหม่

ปีใหม่นี้…

“จะลดน้ำหนัก”

“จะเก็บเงินแต่งงาน”

“จะเลิกบุหรี่”

“จะขายของออนไลน์”

“จะเรียนภาษาอังกฤษ”

“จะเรียนปริญญาโท”

 

ท่านคุ้น ๆ กับความตั้งใจเหล่านี้บ้างไหมค่ะ เมื่อถึงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายคนมักเริ่มทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและเริ่มตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไรใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ในปีใหม่ที่เราเรียกว่า New Year’s Resolution แต่จะมีกี่คนที่ทำได้ดั่งฝัน…

 

“ไม่มีเวลา”

“ยุ่ง”

“ไม่มั่นใจ”

“ทำได้แค่ช่วงต้น ๆ”

“ใจไม่แข็งพอ”

 

และนี่คงเป็นตัวอย่างเหตุผลที่ทำให้เรา “ไม่พร้อม” ที่จะทำสิ่งที่มุ่งมั่นไว้เมื่อต้นปี ประกอบกับ 365 วัน มันช่างยาวนาน แต่ละวันก็ มีเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาจนทำให้ลืมความมุ่งมั่นเหล่านี้ไประหว่างปี กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็สิ้นปีเสียแล้ว ก็กลับมาเริ่มตั้งเป้าหมายกันใหม่  วนเวียนไปเช่นนี้เป็นวัฏจักร

 

ทำไมความมุ่งมั่นเหล่านี้ถึงไม่สำเร็จ จอห์น คอตเตอร์ (John Kotter) กูรูด้านผู้นำอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือ Leading Change ได้พูดถึงหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไว้อย่างน่าสนใจว่า “หัวใจสำคัญสำหรับทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงคือ การเปลี่ยนพฤติกรรม” แล้วทำอย่างไรจะทำให้พฤติกรรมใหม่เหล่านี้กลายเป็นนิสัยที่ถาวร

 

ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักวิ่งอัลตราเทรลมาราธอน ผ่านรายการวิ่งทั้ง  42 กิโลเมตร 50 กิโลเมตร และ 100 กิโลเมตรผ่านทางภูเขาสูงมาหลากหลายรายการ หลายคนคงสงสัยว่าผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะยุ่ง เวลาจะกินข้าวยังแทบไม่มี แต่นี่เอาเวลา 18 ชั่วโมง ไปวิ่ง 100 กิโลเมตร!  

 

ผู้บริหารนักวิ่งอัลตราเทรลมาราธอน คุณวิทยา วรัญญชัยชนะ ผู้อำนวยการประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท DellEMC ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก เล่าให้ฟังว่าในฐานะผู้บริหารองค์กรเทคโนโลยี ในแต่ละวันต้องเจอการเปลี่ยนแปลงที่แรงและเร็ว คู่แข่งคนสำคัญคือเวลา ดั้งนั้นหากขาดสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจและสมอง อาจทำให้บริหารธุรกิจไม่ได้ประสิทธิผล การมีสุขภาพกายที่แข็งแรงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสมดุลนี้ อย่างไรก็ตามในแต่ละวันมีเรื่องยุ่งมากมายทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ที่เป็นเหตุผลที่ทำให้ “ไม่พร้อม” ที่จะลุกขึ้นมาออกกำลังกายตามปณิธานที่ตั้งใจไว้มาหลายปี แม้จะลองไปสมัครสมาชิกฟิตเนสทั้งแถวบ้านและใกล้ที่ทำงาน มีเทรนเนอร์ส่วนตัว แต่ก็ทำได้แค่ช่วงต้น ๆ เท่านั้น จนกระทั่งปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสศึกษาเรื่องผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง จึงเริ่มนำมาประยุกต์ใช้กับการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวก่อน นั่นคือการสร้างพฤติกรรมวิ่ง และพบว่าหัวใจสำคัญการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อยู่ที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์  

 

  1. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน โดยตั้งเป้าเลยว่าปีหน้าจะลงแข่งวิ่งรายกายมาราธอน 42 กิโลเมตร
  2. ลงมือทำ ก็คือต้องไปลงสมัครในรายการวิ่งนั้น ๆ และที่สำคัญคือต้องเริ่มออกมาเทคแอคชั่น ออกมาเริ่มซ้อมวิ่ง โดยเริ่มจากวิ่งในหมู่บ้านก่อน เพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ทำได้ง่ายที่สุด เริ่มจากวันละกิโลสองกิโล แล้วเริ่มเพิ่มระยะทาง
  3. หมั่นทบทวน โดยทุก ๆ วันก็ต้องประเมินทบทวนตัวเองด้วยว่าความเร็วขนาดนี้ได้ไหม ร่างกายพร้อมหรือไม่ วางแผนการกินอย่างไร หรือจะต้องปรับท่าวิ่งอย่างไรเพื่อเพิ่มสมรรถนะการวิ่ง
  4. กระทำจนเป็นนิสัย ในแต่ละวันผู้บริหารอาจมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราไม่สามารถออกมาวิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม นัดลูกค้า งานแก้ปัญหา เช็คอีเมล์ บริหารทีม สิ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับผู้บริหารทั้งสิ้น เราต้องอย่าปล่อยให้เหตุผลเหล่านี้มาทำให้เราไม่พร้อมที่จะทำพฤติกรรมใหม่ อย่าให้มันมาหยุดความตั้งใจที่จะวิ่ง เมื่อผ่านจุดนี้มาได้ วันใดก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกว่าหากวันนี้ไม่ได้ออกไปซ้อมวิ่ง มันจะหงุดหงิดเหมือนชีวิตขาดอะไรไป เมื่อนั้นแปลว่าพฤติกรรมใหม่นี้กลายเป็นนิสัยใหม่ของคุณไปแล้ว
  5. ขยายความสำเร็จ เมื่อเวลามาถึงได้ไปวิ่งรายการ 42 กิโลเมตรจบ สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็เริ่มตั้งเป้าหมายอันถัดไปที่มีความท้าทายมากขึ้น เช่นรายการ 50 กิโล หรือ 100 กิโลต่อไป

 

“การวิ่งอัลตราเทรลมาราธอนไม่ใช่แค่วิ่งให้จบรายการ แต่เป็นกระบวนการที่ผมเรียนรู้กับการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ไม่เคยพร้อมผ่านการตั้งเป้าที่ชัดเจน มีวินัย มุ่งมั่นทบทวน พัฒนาตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งข้อคิดเหล่านี้ผมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทีมได้ทั้งสิ้น” คุณวิทยากล่าว

 

ฟังเช่นนี้แล้ว ดิฉันคิดว่าปีใหม่นี้ หลายท่านคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หรือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง และอยากทำให้มันเกิดผลสำเร็จ

 

ข้อคิดสำหรับผู้นำคือจงตั้งใจทำพฤติกรรมใหม่นี้จนเป็นนิสัย

“อย่าให้ความไม่พร้อม มาทำให้คุณไม่ได้เริ่ม”

“เมื่อไม่พร้อม ให้เริ่มเลย”

 

สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ

Ready to start your Leadership Journey?