เปลี่ยน...ให้ทันโลก

แฟนๆ ประชาติธุรกิจ คงมีโอกาสได้ติดตามข่าวงานสัมมนาประจำปี ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลายคนไปฟังด้วยตนเอง บางคนติดงานแต่ตามดูจากสื่อออนไลน์ไปแล้ว

 

วันนั้นผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงของการเสวนาที่มีวิทยากรขั้นเทพ 5 ท่านคือ ดร.คณิต แสงสุพรรณ (เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี) คุณฐากร ปิยะพันธ์ (ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์) คุณศุภชัย เจียรวนนท์ (ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์) และคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)) มาคุยให้ฟังในหัวข้อ “เปลี่ยน…ให้ทันโลก – New World, New Opportunity, New Business”

 

ต้องถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดาเมื่อกูรูทั้ง 5 ท่านปรากฏตัวอยู่บนเวทีเดียวกัน

 

วันนี้ไม่ได้มาเล่าว่าใครพูดอะไร เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องนี้ คงได้ยินได้ฟังกันไปแล้ว แต่ขอทำหน้าที่ถอดรหัสสิ่งที่วิทยากรทั้ง 5 ท่านพูดไว้ แม้แต่ละท่านจะมีพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ และหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกัน ที่สำคัญพูดกันคนละหัวข้อ แต่ใจความกลับเหมือนกันราวกับนัดไว้

 

ทุกท่านเชื่อว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงกัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราแทบไม่มีการพัฒนาหรือลงทุนอะไรใหม่ๆ ที่ใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นเลย เมืองไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานหลายปีแล้ว หากต้องการสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากพันธนาการนี้ ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัย 5 ประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

1. นวัตกรรม (Innovation) – ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม จริงอยู่แม้ไม่ใช่ทุกความคิดสร้างสรรค์จะกลายมาเป็นนวัตกรรมได้ แต่ทุกนวัตกรรมต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน 

สิ่งที่น่าตกใจคือองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแถบเดียวกัน ดูง่ายๆ ได้จากงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development – R&D) จากข้อมูลของสภาวิจัยแห่งชาติ  พบว่าในปี 2557 ประเทศไทยลงทุนด้านนี้ คิดเป็น 0.4% ของ GDP ในขณะที่เกาหลีใต้ 4% ญี่ปุ่น 3.6% ไต้หวัน 2.9%  สิงคโปร์ 2.3% จีน 1.8% และมาเลเซีย 1.1% เป็นต้น

หากเรายังคงให้ความสำคัญกับการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ในระดับนี้อยู่ต่อไป อีกไม่เกิน 5 ปีไทยจะกลายเป็นประเทศล้าหลัง เพราะเพื่อนบ้านแซงเราไปหมด

นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เกิดจากการส่งคนไปอบรม ตั้งศูนย์การเรียนรู้ หรือมีป้ายรณรงค์พร้อมสโลแกนเก๋ๆ แล้วจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้

การฝึกตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวต่างหาก จึงจะช่วยกระตุกความคิดและไอเดียดีๆ ให้เกิดขึ้นได้ เสียแต่ว่าคนไทย ไม่ชอบตั้งคำถามและไม่ชอบตอบคำถาม และนี่อาจเป็นคำตอบว่าเหตุใดคำถาม 4 ข้อของท่านนายกฯ ตู่ จึงไม่ค่อยมีคนตอบ !

 

2. เทคโนโลยี (Technology) – ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่พูดถึงเทคโนโลยี ตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันอย่างมาก

ที่บ้านผมไม่มีนาฬิกาปลุกแล้ว เพราะใช้โทรศัพท์ปลุกได้ ไอแพดก็ปลุกได้ อีกไม่นานเตียงนอนคงติดตั้งเครื่องปลุกอัตโนมัติมาจากโรงงานให้เลย

ดร.ชัชชาติเล่าว่าตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์มีพัฒนาการมากกว่าเทคโนโลยี ปัจจุบันนี้สูสีกัน แต่ต่อไปในอนาคตอีกสัก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะฉลาดกว่ามนุษย์มาก ตอนนี้รถที่ไม่มีคนขับเป็นเรื่องธรรมดา อีกหน่อยขึ้นรถปุ๊บไม่ต้องป้อนโปรแกรม แค่คิดว่าจะไปไหนรถก็พาไปส่งให้ถึงที่ ไม่นานเราอาจได้เห็นประตูวิเศษแบบที่เคยดูในการ์ตูนโดเรม่อน อยากไปไหนก็แค่เปิดประตูออกไป ถึงที่นั่นเลย !

คุณบอย โกสิยพงศ์ เล่าให้ฟังว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์สามารถแต่งเพลงได้แล้ว ล่าสุดมีคนโหลดเพลงของวงเดอะบีเทิลส์ทั้งหมดที่มีเข้าไปในเครื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artifician Intelligent) แล้วให้ลองแต่งเพลงออกมา ปรากฎว่าเครื่องสามารถแต่งเพลงใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ออกมาได้ ทั้งยังมีท่วงทำนองและกลิ่นอายของเดอะบีเทิลส์ชนิดไม่มีมีผิดเพี้ยน นักแต่เพลงขันเทพอย่างเขาเริ่มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะเกรงว่าในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์จะแย่งงานที่รักและทำได้ดีไปจากเขา

โลกเปลี่ยนไปเยอะและเร็วมาก แต่ประเทศไทยยังทะเลาะกันอยู่ว่า อูเบอร์ควรถูกกฎหมายไหม พร้อมเพย์ เมื่อสมัครแล้วจะถูกแฮ็กข้อมูลหรือเปล่า สรรพากรจะรู้ใช่ไหมว่าเราได้เงินมาเท่าไรและใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ฯลฯ … หากยังว่ายเวียนอยู่ในวังวนเช่นนี้ แล้วเราจะไปแข่งกับใครได้ ?

 

3. การใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data Analytic) – ในอดีตเวลาติดปัญหา หาทางออกไม่ได้ ก็มักได้ยินคำอธิบายสุดคลาสสิกว่า “ข้อมูลไม่พอ” แต่ทุกวันนี้โลกกลับตาลปัตร ข้อมูลมีอยู่ทั่วไป เรียกว่าล้นทะลักเลยเสียด้วยซ้ำ ใครบอกว่าข้อมูลไม่พอ ต้องโดนเขกหัวทันที ปัญหาทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าข้อมูลที่มีมากเกินไปจนไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน ใช้ข้อมูลอะไร และจะหาประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) เหล่านั้นได้อย่างไร ต่างหาก

การแข่งข้นในโลกอนาคตจึงอยู่ที่ใครสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้มากกว่ากัน ในอดีตเราเชื่อว่าคนที่มีข้อมูลเท่านั้นคือผู้ชนะ (Information is king) แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ ! มีข้อมูลอย่างเดียวไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะข้อมูลหาง่าย ใครๆ ก็มี

หลายท่านคงใช้ Facebook เคยคิดแปลกใจไหมว่าทำไมเขาให้ใช้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินสักบาท ยอมให้เนื้อที่จำนวนมหาศาลเพื่อเก็บรูปและข้อความต่างๆ ที่เรา Post ขึ้นไปแบบไม่จำกัดจำนวน

Facebook ได้เงินจากไหน หลายคนบอกว่าได้จากค่าโฆษณา จริงครับ แต่โฆษณาจะมาไหม หากลงไปแล้วไม่ได้ผล

อันที่จริงธุรกิจหลักของ Facebook คือการขายข้อมูล เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ Facebook รู้จักเรา มากกว่าเรารู้จักตัวเองเสียอีก รู้ว่าเราเพศอะไร ทำงานที่ไหน อาศัยอยู่ซอกใดบนโลกนี้ ชอบกด Like เรื่องอะไร บ่อยแค่ไหน สนใจทำอะไร เป็นเพื่อนกับใคร อารมณ์เป็นยังไง ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

วิชาชีพที่องค์กรต่างๆ กำลังแย่งตัวกันอย่างจ้าละหวั่นในขณะนี้ ไม่ใช่บัญชีหรือการเงิน ไม่ใช่วิศวกรหรือสถาปนิก ไม่ใช่หมอหรือพยาบาล แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งในประเทศไทย ยังไม่เห็นมหาวิทยาลัยไหน ผลิตบัณฑิตด้านนี้ออกมาโดยตรงเลย

 

4. คุณภาพของบุคลากร (People) – ไม่ว่าเทคโนโลยีจะยอดเยี่ยมเพียงใด ระบบการทำงานจะสุดยอดขนาดไหน หากขาดซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านั้นก็ดูไร้ค่า เครื่องจักรซื้อได้ เทคโนโลยีซื้อได้ แต่คนที่มีคุณภาพนี่ซื้อยาก คนเก่งๆ จากองค์กรหนึ่ง ย้ายมาทำงานอีกองค์กรหนึ่ง อาจไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเดิม องค์กรที่จะชนะในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับการสรรหา พัฒนา และรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเอาไว้ให้ได้

ทุกวันนี้ค่านิยมในการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อย ไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่อยากร่ำรวยและประสบความสำเร็จเร็ว พวกเขามี แจ๊ค หม่า มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก หรือต๊อบ เถ้าแก่น้อย เป็นไอดอล

พ่อแม่ยุคใหม่ไม่สนับสนุนให้ลูกทำงานหนักแต่ให้เลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข ผลสำรวจล่าสุดพบว่าบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ ตั้งใจจะทำงานกับองค์กรต่างๆ ที่ละไม่เกิน 3 ปี สมัยก่อนตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ เจ้านายพาไปแนะนำให้รู้จักกับพี่ๆ ที่ทำงานกันมาคนละ 20-30 ปี ผมยกมือไหว้ด้วยความศรัทธาและชื่นชม แต่ทุกวันนี้พาเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ไปแนะนำให้รู้จักพี่ๆ ที่ทำงานมา 20-30 ปี น้องยกมือไหว้แล้วถามว่า “พี่อยู่ได้ไงคะ”

โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทัศนคติและวิธีคิดของเราก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ใช่เพราะแบบเก่าไม่ดี เพียงแค่ใช้ไม่ได้ผลแล้วในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เท่านั้นเอง

 

5. ภาวะผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร (Leadership & Culture) – คนเก่งๆ ดีๆ อยู่ไม่ได้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะองค์กร แต่เป็นเพราะผู้นำในองค์กร ลองสังเกตุดู หน่วยงานไหนคนออกบ่อย ส่วนมากเป็นเพราะหัวหน้าของหน่วยงานนั้นไม่มีทักษะเรื่องคน

งานวิจัยหลายสถาบันยืนยันตรงกันว่า “พนักงานเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่ลาออกเพราะพฤติกรรมของหัวหน้างาน” ดังนั้นการพัฒนาภาวะผู้นำให้กับหัวหน้าทุกระดับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะจะช่วยรักษาคนเก่งคนดีไว้ได้นานยิ่งขึ้น

แกลลัพ บริษัทวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ค้นพบว่ามี 12 ปัจจัยเท่านั้นที่ทำให้พนักงานรัก ผูกพันและทุ่มเทให้กับองค์กร ทั้ง 12 ปัจจัยนั้นไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมของหัวหน้างานและสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งสิ้น (สนใจศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม ค้นหาคำว่า Gullup Q12)

นอกจากนั้นวัฒนธรรมขององค์กร ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จด้วยเช่นกัน ไม่ว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์จะดีเพียงใด หากขาดวัฒนธรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับทิศทางที่องค์กรกำลังเดินไป ยอมไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จเป็นแน่แท้

กูรูด้านการบริหารหลายท่านพูดไว้ตรงกันว่า “วัฒนธรรมกินกลยุทธ์เป็นอาหาร” (Culture eats Strategies for lunch) หมายความว่ากลยุทธ์ดีๆ ที่เสียเงินเสียเวลาในการเก็บข้อมูลและช่วยกันกำหนดขึ้นมา จะถูกวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องขององค์กร ค่อยๆ กลืนกินกลยุทธ์เหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นการใส่ใจสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆ ที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมงในการเสวนาวันนั้น ทำให้เห็นแง่คิดและมุมมองใหม่ ที่หลากหลายและคุ้มค่ามากจริงๆ

Ready to start your Leadership Journey?