กติกาใหม่ในการทำงาน

กติกาใหม่ในการทำงาน

ต้องยอมรับว่าโควิด ทำให้โลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กฎกติกาหลายอย่างที่เคยใช้ได้ผลในการกำกับดูแลพนักงาน กลับกลายเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน จนบางครั้งอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ชนิดคาดไม่ถึง

โรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีกฎว่าพนักงานคนใดไม่ป่วยสายลาขาดเลยในแต่ละเดือน จะมีรางวัลเป็นเบี้ยขยัน เพิ่มให้จากเงินเดือนปกติ 15%

กติกานี้ใช้ไดผลดี จนกระทั่งโควิดมา !

สถานการณ์เปลี่ยน แต่กฎกติกาไม่เปลี่ยน จึงกลายเป็นปัญหา

พนักงานบางคนที่รู้สึกป่วย ก็พยายามหอบสังขารของตัวเองมาทำงาน เพราะอยากได้เงินเพิ่มอีก 15% เป็นเบี้ยขยัน จนในที่สุด ทำให้พนักงานคนอื่นๆ ติดเชื้อและเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว จาก 10 กลายเป็น 100 และจบลงที่พนักงานหลายร้อยคนติดเชื้อโควิด ต้องปิดโรงงานทุกโรง รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วให้เลวร้ายลง

การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการทำงาน ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของผู้บริหารก่อน

 การบริหารยุคเดิม เชื่อว่า หน้าที่ของผู้บริหาร คือการกำหนดกฎกติกาให้พนักงานปฏิบัติตาม และมองว่ากฎเกณฑ์ในการทำงาน เป็นเงื่อนไขที่บริษัทตั้งไว้ พนักงานต้องยอมรับและเคารพกติกานั้น ถ้าต้องการอยู่ร่วมกัน

 การบริหารยุคใหม่ ความเชื่อต้องเปลี่ยนไป ผู้บริหารมีหน้าที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อให้ช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน และช่วยกันดูแลควบคุมให้ทุกคนปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ตกลงกัน

 ดังนั้น ในโลกยุคใหม่ (New Normal) การกำหนดกฎเกณฑ์ในการทำงานต้องเปลี่ยนแปลงไป และนี่คือขั้นตอนสำคัญ 3 ประการ

 1. ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกามารยาทในการทำงาน โดยหัวหน้าหรือผู้บริหารเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้กำหนดกฎ (Rule Makers) ไปเป็น ผู้กระตุ้นการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา (Collaborative Facilitators for Rule Making)

 2. กติกาใหม่ที่กำหนดขึ้น ให้เริ่มต้นด้วยการทดลองใช้ ถ้าไม่เวิร์คก็ยกเลิกไป ความรวดเร็วในการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ สำคัญกว่าการคิดให้ถ้วนถี่ แล้วกำหนดกฎกติกาที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ

 3. จัดให้มีการตรวจสอบกฎเกณฑ์หรือกติกาที่มีการใช้บังคับอยู่เป็นระยะๆ เพื่อดูว่ามีกฎเกณฑ์ใดบ้าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงาน กติกาควรมีไว้เพื่อสนับสนุนให้พนักงานทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายขององค์กร กฎเกณฑ์ใดทำหน้าที่ตรงกันข้าม คือคอยขวางกั้นหรือเป็นอปุสรรคต่อความสำเร็จ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและพิจารณายกเลิกถ้าเป็นไปได้

ลองหันกลับมามองกฎเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ขององค์กรท่านดู มีเรื่องใดที่ล้าสมัยแล้วบ้างไหม ?

อย่าลืมกดติดตาม LINE OA : Leadership Hacks สำหรับข่าวสารและอาหารสมองดี

Tags:
#Leadership Hacks

Ready to start your Leadership Journey?