Money and Happiness

ว่าจะเขียนเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว เผอิญสัปดาห์นี้อยู่ที่ภูฏาน เมืองแห่งความสุข Gross Domestic Happiness (GDH ที่ไม่ใช่ GDP) เลยนึกขึ้นได้ว่าควรเล่าเสียที

เมื่อปี 2010 Dr. Daniel Kahneman และทีม ทำงานศึกษาชิ้นหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความฮือฮา นั่นคือนักวิจัยระดับรางวัลโนเบลพบว่า ความสุขกับเงินไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป จริงอยู่ หากเราไม่มีเงินเลยย่อมไม่มีความสุขเพราะไม่มีจะกินจะใช้ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีเงินความสุขก็เพิ่มตามไปด้วย แต่พอรายได้เพิ่มเกินจุดหนึ่ง คือ USD75,000 ต่อปี (ตีเป็นเงินไทยด้วย PPP ตามค่าครองชีพเท่ากับประมาณ 75,000-100,000 บาทต่อเดือน) ความสุขกลับไม่เพิ่มตามไปด้วย

สำหรับคนไทยแปลว่า หลังจากเราหาเงินได้เดือนละหนึ่งแสนบาทแล้ว ความสุขของเราจะมาจากอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่เงิน ฟังดูดี แต่มันจริงเหรอ? บางคนอาจแย้งว่า แค่แสนเดียวจะไปพออะไร ทุกวันนี้หาได้เป็นล้านยังไม่สุข งั้นกรุณาอ่านต่อครับ

สิบปีให้หลังในปี 2021 ทีมของ Matthew Killingsworth แห่งมหาวิทยาลัย Princeton สถาบันเดียวกัน ทำการศึกษาเรื่องความสุขกับเงินบ้าง แต่กลับพบข้อมูลแย้งกับของเดิม นั่นคือพวกเขาไม่พบจุดเปลี่ยนดังกล่าวแต่อย่างใด ตรงกันข้าม บทสรุปของงานวิจัยชิ้นหลังนี้คือ ยิ่งมีเงินยิ่งมีความสุข คนมีรายได้เดือนละหลายๆแสนยิ่งสุขเยอะกว่าคนที่มีแสนเดียว

อ้าว แล้วคราวนี้จะเชื่อใคร? ตกลงเราต้องขวนขวายหาเงินเกินเดือนละแสนต่อไปหรือเปล่า? กำลังดีใจว่าจะได้ทิ้งงานไปดูลูกเล่นละครที่โรงเรียนแล้วเชียว งานวิจัยชิ้นล่าสุดจึงเกิดขึ้น เป็นปรากฏการณ์รวมการเฉพาะกิจของทั้งสองทีมข้างต้นเพื่อตัดสินว่าใครถูกใครผิด ให้รู้ดีรู้ชั่วกันไป

ผลปรากฏว่า ผิดทั้งคู่ครับ เอ… หรือจะเรียกว่าถูกทั้งคู่ก็น่าจะได้

เพราะเมื่อกลับมาพิเคราะห์ดูใหม่ พวกเขาพบว่าในข้อมูลเดิมนั้นมีกลุ่มลับซ่อนอยู่ กลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีเงินแต่ไม่มีความสุข บทสรุปแรกๆเลยเพี้ยนไป เพราะบรรดาคนที่อยู่ในกลุ่มศึกษา ดันมีแยกย่อยออกไปอีกระหว่างคนที่รวยและสุข กับคนที่รวยแต่ทุกข์ เอามาเหมารวมไม่ได้

“If you’re rich and miserable, more money won’t help. For everyone else, more money was associated with higher happiness”

ฟระ แล้วอะไรล่ะที่ทำให้คนรวยบางคนมีความสุข ในขณะที่อีกหลายๆคนยิ่งรวยยิ่งทุกข์? ต้องถามกันต่อไปอีก

คำตอบคือ Emotional Wellbeing (EW) หมายถึงความสามารถในการรับมือกับความเครียดและความผิดหวังในชีวิต the ability to successfully handle life’s stresses and adapt to change and difficult times (www.nih.gov)

งานวิจัยชุดดรีมทีมนี้พบว่า หากเราแบ่งคนออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพวกที่ขาดทักษะดังกล่าว low EW ความสุขจะชะงักแม้รายได้เกินแสนบาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่สอง mid EW ความสุขจะเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับรายได้ มีเงินมากขึ้นหนึ่งเท่า สุขก็เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่า

และกลุ่มที่มี high Emotional Wellbeing คนกลุ่มนี้มีความสุขซึ่งโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เช่น เมื่อหาเงินได้จากแสนเป็นสองแสน พวกเขามีวิธีคิดวิธีใช้จ่ายที่ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

สำหรับผู้นำสมอง บทเรียนจากการศึกษายืดยาวหลายสิบปีนี้คือ อย่าสอนลูกว่าความสุขมาจากเงิน แต่จงสอนว่าความสุขมาจากความคิด

หากเราเป็นคนคิดดีคิดได้และคิดเป็น เราจะแสวงหาเงินและแสวงหาความสุขได้เสมอ

เหมือนประเทศภูฏานที่ผมมาเที่ยวครั้งนี้ มองไปรอบๆเป็นประเทศสงบ ร่มเย็น อากาศดี มีความสุข ไร้เทคโนโลยี ไร้รถยนต์ราคาแพง ไร้บ้านเรือนคฤหาสน์ใหญ่โตหรือคอนโดสูงลิ่ว แต่เก็บค่าเข้าประเทศ USD200 หรือ 7,000 บาท ต่อหัวนักท่องเที่ยวหนึ่งคนต่อวัน แล้วโรงแรมไหนๆก็ห้องเต็มทั้งนั้น ยิ่งเทศกาลคนยิ่งเยอะ

แค่ผมมากับภรรยาสองคน หกวัน เงินออกจากกระเป๋าเข้ารัฐบาลเขาไปแล้ว 84,000 บาท!

สุขด้วยและรวยด้วยเลยครับ น่านับถือจริงๆ

 

Ready to start your Leadership Journey?