Loyalty 4.0

ความภักดีต่อองค์กรในยุค Open Source คืออะไร?

 

“Hey Dr Thun. I’m thinking about leaving my job, but I’m worried people would think I’m disloyal” แอรอน ผู้บริหารหนุ่มของธนาคารระดับสากลแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ปรึกษาผมระหว่างการโค้ช

 

“Why would you think that?” ผมถาม

“Well, people in my team have been around for 10+ years. And I told my boss 5 years ago that I could see myself here long term. So I’m afraid I’ll be betraying the organization.” เพื่อนในทีมส่วนมากอยู่กันมาเป็นสิบปี และผมเคยบอกหัวหน้าไว้ตอนสัมภาษณ์ว่าอยากจะอยู่ที่นี่ให้นานที่สุด เลยกังวัลว่าตัวเองเป็นคนไม่ภักดีต่อองค์กรหรือเปล่า

 

“What does loyalty mean to you?” ผมชวนคุยต่อ

แอรอนหยุดคิดแล้วนิ่งไป ก่อนตอบว่า “ก็… น่าจะหมายถึงการที่เราอยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งนาน ๆ โดยไม่ย้ายไปไหน”

 

“นี่ แอรอน คุณเคยเห็นพนักงานที่อยู่นาน ๆ นานเป็นสิบปีอย่างที่คุณว่า แต่ไม่มีความสุขไหม? พนักงานที่ร่างกายอยู่ในที่ทำงานแต่ใจอยู่ที่ไหนไม่รู้ และทุกเวลาว่างที่มี พวกเขานั่งนินทาว่าร้ายคนในองค์กรได้ตั้งแต่ซีอีโอ ยันหัวหน้า ยันพนักงานขับรถ Would you describe them as ‘loyal’?”

 

ผมเล่าให้แอรอนฟังว่า เมื่อสมัยทำงานอยู่ที่ BCG The Boston Consulting Group เรามีวัฒนธรรม Up or Out แปลว่าหากคุณไม่ได้รับการโปรโมต คุณควรเริ่มมองหาโอกาสที่อื่น ในบางมุมอาจดูโหดร้าย แต่ด้วยการซัพพอร์ตของบริษัท ศิษย์เก่าส่วนมากได้งานดี ๆ ที่ตรงกับตัวเองหลังจากออกไป

 

  1. ความภักดีต่อองค์กร ไม่เหมือนกันในแต่ละยุคสมัย

องค์กรสมัยก่อนมีวัฒนธรรมแบบ One Organization For Life ใครเข้าทำงานที่ไหนได้ จะอยู่จนเกษียณกันไปข้างหนึ่ง พนักงานจะค่อยๆไต่เต้า เรียนรู้จากรุ่นพี่รุ่นอารุ่นป้า เก็บคะแนนอัพเลเวลไปเรื่อยๆ จากสาขา ไปเขต ไปจังหวัด ไปภาค แต่เป็นไปได้ไหมว่าปัจจุบัน คำว่า Loyalty ไม่เหมือนเดิม ในยุค 4.0 กับเด็กเจนวายเจนแซต ใครอยู่บริษัทไหนได้สามปีขึ้นก็ถือว่านานโขแล้ว

  1. ความภักดีวัดที่ Attitude ไม่ใช่เวลา

เหมือนที่ผมถามแอรอนว่า ระหว่างคนที่อยู่นานแต่นินทาลูกค้าด่านายขายลูกน้องทุกวัน กับคนที่ลาออกไปแต่มีความรู้สึกดีๆให้กับบริษัทที่เคยทำงาน เจอลูกค้าก็อยากแนะนำให้ เจอรุ่นน้องก็สนับสนุนให้มาสมัคร ใครมีความภักดีมากกว่ากัน? การทนอยู่ไม่เหมือนกับการอยู่ทน บางครั้งจากไปอาจดีกว่าถอดใจ

  1. มองประโยชน์ของความภักดีให้กว้างกว่าแค่กำแพงองค์กร

ผมอธิบายให้แอรอนฟังว่า กระบวนการ Up or Out เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของ BCG ศิษย์เก่าส่วนมากที่ออกไปไม่ได้ไปไหนไกล แต่จะไปทำงานกับบริษัทลูกค้านั่นแหละ เคยเห็นฝีมือกันมาแถมจ้างเป็นพนักงานประจำถูกกว่าตอนจ้างเป็นคอนซัลท์เสียอีก ไม่ต้องคัดต้องกรอง ใช้งานได้ทันที

พอถึงเวลาต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษา คุณคิดว่าบรรดาศิษย์เก่าพวกนี้จะนึกถึงใครล่ะครับ? แน่นอน อย่างน้อยความภักดีต่อสถาบันเดิมก็ช่วยให้บริษัทได้เข้ามานำเสนอ จะได้งานหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ แต่อย่างน้อยก็ได้โอกาส กลายเป็น Alumni Network ที่แผ่ไปทั่ว ทุกวันนี้ผมก็ยังได้รับจดหมายเชิญไปร่วมงานโน่นนี่อยู่เสมอ

  1. หมั่นสร้าง Reputation ของพนักงานที่ภักดี

ผมบอกแอรอนว่า ไม่ว่าสุดท้ายคุณจะเลือกอยู่หรือไป จงเป็นพนักงานที่มีชื่อเสียงเรื่องความภักดี เมื่อยังไม่แน่ใจว่าจะลาออกไหมก็อย่าเพิ่งพูดกับคนโน้นคนนี้ โดยเฉพาะในเรื่องที่ลบๆต่อบริษัท อย่าจับกลุ่มนินทากับคนที่มีทัศนคติแบบเดียวกัน พยายามรักบริษัทจนวันสุดท้าย

 

หากตัดสินใจแล้วว่าจะจากไป ก็จงจากไปด้วยดี เขียนจดหมายขอบคุณผู้ใหญ่ที่เคยให้โอกาส ร่ำลาหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ส่งมอบงานให้เรียบร้อย ออกไปแล้วถ้าเป็นไปได้ก็กลับมาเยี่ยมเยียนบ้าง พูดถึงองค์กรเดิมในมุมดีๆ ถ้าแนะนำใครให้ได้ก็แนะนำไปตามจริง อย่าใส่ไฟ

 

“แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรจากไป” How would I know what I should do? แอรอนถามเป็นคำถามสุดท้าย

 

“ก็ถามใจตัวเอง” ผมตอบตรง ๆ มันอาจฟังดูเหมือนกำปั้นทุบดินแต่ความจริงก็คือความจริง หากรู้สึกหมดไฟ ไม่อยากลุกมาทำงาน วัน ๆอยากแต่โดดงาน เฝ้ารอให้สุดสัปดาห์ มันก็ควรออกไปลองทางใหม่ มิใช่หรือ?

 

แต่อย่าใช้เหตุผลว่ายังไม่ลาออกเพราะกลัวจะไม่ภักดี นั่นเป็นทางเลือกที่ Lose Lose ทุกฝ่ายครับ!

Ready to start your Leadership Journey?