Leading with Empathy
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำพูดขององค์กร(หรือของหัวหน้า)นั้นจริงใจหรือจอมปลอม? มันคือความต่างระหว่าง Espoused และ Enacted สิ่งที่พูด กับ สิ่งที่ทำ
ตัวอย่างเช่น Espoused values คือคุณค่าที่องค์กรบอกว่าให้ความสำคัญ the values that an organization or person states that it believes in and is desired. In organizations, this is often seen in mission statements, presentations, taglines, etc. ส่วน Enacted values คือคุณค่าที่คนในองค์กรสัมผัสและรู้สึกได้จากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์การทำงานทุกๆวัน the values that organization members perceive to be actually valued by the organization
ซึ่งสองอย่างนี้อาจไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป เช่น บางองค์กรแปะป้ายหราว่า Trust แต่หัวหน้าไม่เคยปล่อยลูกน้องไกลสายตา งานทุกชิ้นพี่ต้องปรู๊ฟก่อนจะผ่านสู่สายตาคนอื่น
หรือ Work Life Balance แต่ขนาดข้าวเที่ยงยังไม่มีเวลาจะกิน ประชุมสิบโมงยันเที่ยง เที่ยงยันบ่ายสอง ทีมต้องอาศัยขนมกรุบกรอบเป็นเครื่องประทังชีวิต
ผมเพิ่งโค้ชผู้บริหารท่านหนึ่งเรื่องการทำทีมที่มีประสิทธิภาพ Building a Great Team อยากสร้างทีมแต่ประโยคติดปากของหัวหน้าคือ “You don’t have to like each other, you just have to work together.” พวกคุณไม่จำเป็นต้องรักกัน แค่ทำงานร่วมกันให้ได้ก็พอ ผมย้อนถามท่านว่า Is this how you would define a great team? นี่คือความหมายของทีมที่เลิศของท่านหรือ? เพราะสิ่งที่ผู้นำพยายามสร้างกับสิ่งที่พูดมันไม่ไปทางเดียวกัน
โปรเฟสเซอร์ Hal Gregersen Executive Director of the MIT Leadership Center และผู้เขียนหนังสือ Questions are the Answer เล่าถึงบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก Charles Schwab และ President and Chief Executive Officer ชื่อ Walter Bettinger
สมัยเรียน Walt เป็นเด็กทะเยอทะยาน เขาตั้งเป้าว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยให้จบภายในสามปี ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ปีที่สาม Walt เข้าห้องสอบวิชาสุดท้ายด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม เพียงวิชานี้ได้ A เขาก็จะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งใจ
อาจารย์เดินเข้ามาในห้อง แจกกระดาษเปล่าให้นักเรียนคนละหนึ่งแผ่น ทุกคนมองหน้ากันงงๆ เพราะวิชาที่เรียนเป็นเรื่องกลยุทธ์องค์กร มีองค์ประกอบซับซ้อนมากมาย แค่การบ้านก็แฟ้มกระดาษเป็นตั้งๆ
“ข้อสอบปลายภาคของพวกคุณ มีเพียงข้อเดียว” อาจารย์ท่านนั้นกล่าว “หากคุณตอบถูก เอา A ไปเลย หากตอบผิด คะแนนของคุณคือ F” นักเรียนทุกคนเหงื่อแตก อะไรกันฟระเนี่ย
อาจารย์หยุดนิดหนึ่งก่อนปล่อยของ “คำถามของผมคือ พนักงานทำความสะอาดตึกของเรา ชื่ออะไร?” เพียงเขียนชื่อนั้นให้ถูกต้องลงในกระดาษแล้วเอามาส่ง A ก็จะเป็นของคุณ
ไม่ต้องบอกคุณผู้อ่านคงเดาได้ Walt และเพื่อนในห้องไม่มีใครรู้ ทั้งที่เรียนหนังสือในตึกนี้มาหลายปี บางคนถึงขั้นนอนค้างในห้องเรียนเพราะทำงานไม่ทันก็มี แต่ไม่เคยมีใครสนใจว่า พี่พนักงานซึ่งคอยทำความสะอาด คอยปลุกให้ลุกขึ้นไปเรียนนั้น ชื่ออะไร
วิชานั้น Walt ได้ B เพราะส่งกระดาษเปล่าในข้อสอบปลายภาค
รุ่งขึ้น เขาตื่นไปเดินตามหาพนักงานผู้นั้นแต่เช้า และเรียนรู้ว่าเธอชื่อ Dotti
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิ่งที่ Walt จำใส่ใจก็คือ Leading with Empathy การให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีความหมาย การใส่ใจเพื่อนมนุษย์ และการตั้งเป้าหมายอันช่วยพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น หากคุณทำงานกับ Walt ที่ Charles Schwab บริษัทจะไม่มุ่งเพียงแค่สร้างผลตอบแทนสูงสุดกับลูกค้ารายใหญ่ แต่จะให้ความสนใจและใส่ใจกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการลงทุนอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับครอบครัว
พนักงานของ Walt จะถูกย้ำเสมอว่า ห้ามเอาเปรียบลูกค้า โดยเฉพาะคนที่มองเราเป็นที่พึ่งของเขา
Leading with ‘Enacted’ Empathy ครับ