Leading Out-Of-Thailand: Coliving Space
อะไรคือ Coliving Space?
ผมนั่งฟัง คุณ Ajay Kumar, Founder and CEO of TheHouseMonk, คุณ Penny Clark, the Co-Founder and Head of Research and Sustainability at Conscious Coliving, และ คุณ Felix Ferdinand, the Co-Founder and CEO of Kuala Lumpur based Coliving Company called ‘Hom’ อย่างสนใจ เคยได้ยินคำนี้มาบ้าง แต่ไม่เคยรู้ละเอียดว่ามันหมายถึงอะไร
“Coliving คือการเลือกอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน ” Felix เริ่มก่อน “แต่ละชุมชนจะมีพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวม ส่วนตัวหมายถึงห้องนอน ห้องน้ำ ส่วนรวมหมายถึงบริเวณนั่งเล่น ห้องครัว หรือพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ ”
อ้อ ผมเริ่มเข้าใจว่าคงคล้ายกับ Working Space ที่เปิดให้บริการ มีแอร์ มีห้องน้ำ มีเน็ต มีกระทั่งกาแฟของว่างบริการพร้อมสรรพ และเป็นการใช้พื้นที่แบบแบ่งปัน คือข้างๆเราอาจมี CEO จากอีกสามสี่บริษัทมานั่งด้วย ต่างคนต่างใช้คอมพ์ทำงานกันไป
“เราพบว่า คนรุ่นใหม่มีความนิยมในการใช้ชีวิตแบบ Coliving มากขึ้น ” คุณ Ajay แชร์บ้าง “เช่น จบจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพิ่งเริ่มทำงานแห่งแรก หรืออาจยังไม่มีงานทำด้วยซ้ำไป Coliving ให้ประโยชน์ด้วยค่าเช่าราคาถูกกว่า เพราะเป็นการแชร์พื้นที่ร่วมกันคนอื่น คล้ายมีคนมาช่วยหารรายจ่าย ”
“นอกจากนั้น ข้อดีที่คนอาจมองข้ามหรือนึกไม่ถึงคือ การได้ขยาย Network ของตัวเองมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อน กระทั่งโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจกับผู้อื่นที่อยู่ร่วม Coliving ด้วยกัน ”
คุณ Penny เพิ่มเติมมาว่า “และอย่าลืมประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หลาย Coliving เป็นที่รวมของคนซึ่งคิดคล้ายๆกัน เช่นต้องการรักษ์โลก ก็จะมีกติกาห้ามใช้พลาสติก หรือถ้าเป็นกลุ่มรักสุขภาพ เราจะเห็นบทสนทนา ประกาศ การชักชวนกันไปออกกำลังในที่ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ นี่ยังไม่รวมกลุ่มผู้สูงอายุ คล้ายกับ Nursing Homes แต่ในกรณีนี้ยังเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงดี ไม่ถึงกับต้องมีคนดูแล แค่บริเวณพักอาศัยมีอุปกรณ์อันเหมาะสม เช่น Ramp ราวจับบันได ห้องนวด และกิจกรรมซึ่งคนวัยใกล้กันสนใจ ปลูกต้นไม้ ทำกับข้าว Handicraft ”
ว้าว… คิดตามไปมา Coliving มันมีมุมที่เป็นประโยชน์หลายด้านทีเดียวนะเนี่ย
ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
Coliving ต่างอย่างไรกับแฟลต? ถามกันตรงๆก็ตอบกันตรงๆ คุณ Felix บอกว่าเอาเข้าจริงหากดูแค่เผินๆมันก็คล้ายกัน เป็นห้องเช่าราคาถูกซึ่งต้องแชร์พื้นที่บางส่วนร่วมกัน ดังนั้นหัวใจของความสำเร็จของผู้บริหาร Coliving จึงไม่ได้อยู่แค่โมเดลธุรกิจ แต่อยู่ที่ความละเอียดในการให้บริการ เช่น มีระบบการสกรีนผู้เข้าพักอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งบริษัทของเขาให้ความสำคัญตรงจุดนี้มาก ก่อนจะรับทำสัญญาเช่า สมาชิกจะมีการสัมภาษณ์ มีการทำแบบสอบถาม ตรวจเช็คประวัติเช็ค Reference ไม่ต่างจากการสมัครเข้าทำงาน
“กลุ่มลูกค้าประเภทหนึ่งของผม คือบริษัทซึ่งมาทำสัญญาเช่า Coliving เป็นสวัสดิการให้พนักงานพัก ประโยชน์ที่ได้คืออยู่ใกล้ออฟฟิศไม่ต้องเดินทางไกล และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนในบริษัทแบบ Cross-fuction ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย ได้งานช่วงนอกเวลาทำงานด้วย จะว่าไป ก็คล้ายๆกับการมี Google Campus ให้กับบริษัทตัวเอง โดยไม่ต้องลงทุนมากอย่างกูเกิ้ล ” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม
Coliving ดูแลความปลอดภัยผู้พักอย่างไร? การสกรีนจึงสำคัญมากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ต่างอะไรกับ Grab ซึ่งต้องตรวจสอบประวัติผู้ขับอย่างละเอียดถี่ถ้วน Coliving อาจต้องทำกระทั่งการเช็คโซเชียล เพื่อดูว่าสมาชิกใหม่นั้นไม่มีความเสี่ยงจริงๆ นี่ยังไม่รวมระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่นกล้องวงจรปิด รปภ.ประจำพื้นที่ ระบบแจ้งเตือนภัย รวมไปถึงการออกแบบ การสร้างพื้นที่ส่วนตัวซึ่งสามารถล็อคป้องกันคนภายนอกได้อย่างแน่นหนา Coliving เป็นสังคมของคนยุคดิจิตัล ฉะนั้นบริษัทบริหารต้องระวังไม่ให้พลาดเกิดเหตุ มิฉะนั้นชื่อเสีย(ง)จะแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว และทำให้ลูกค้าตีจากไปได้โดยง่าย
Coliving จะสู้คอนโดแบบฟรีดาวน์ได้หรือ? ความต้องการอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งในยุคคอนโดราคาย่อมเยาหาได้ไม่ยาก ดาวน์ต่ำผ่อนยาวจนค่างวดรายเดือนไม่ต่างอะไรกับการเช่า คนจะมาอยู่ Coliving หรือ? คำถามนี้คุณ Penny เป็นผู้ตอบ “หากมองเช่นนั้นก็ใช่ แต่ดิฉันคิดว่าเราต้องมอง Coliving ให้ไกลกว่าแค่การเป็นที่อยู่อาศัย อย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนค่านิยมไม่สะสมสมบัติ ต้องเสียภาษีที่ดินด้วย (อันนี้ผมเติมเอง) พวกเขามีความมุ่งมั่น มี Leadership อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น แต่เปลี่ยนโลกทั้งใบมันยาก Coliving จึงเป็นเสมือนโลกใบเล็กๆซึ่งสมาชิกสามารถสร้างกันเองได้ ”
Coliving is all about community, but it also supports individuality. It’s about sharing rather than consumption, and collaboration rather than competition.