"ยาแก้ปวดใจ" และหลักการของ S.A.F.E.R

ช่วงนี้อ่านข่าวเมืองไทยมีแต่เรื่องปวดหัวปวดใจ เลยนึกถึงเรื่องนี้ กลับมาเล่าใหม่เป็นกำลังใจให้สู้ๆกันนะครับ

มีงานวิจัยงานหนึ่ง ทดลองด้วยการให้ผู้ร่วมโครงการ เล่นเกมออนไลน์ โดยเกมนี้ เป็นการโยนลูกบอลไปมาระหว่างผู้เล่น 3 คน

โยนไปสักพัก พอเพลินๆผู้เล่นคนหนึ่งจะถูก “ตัด” ออกจากเกมซะเฉยๆ กล่าวคือเพื่อนอีกสองคนจะเลิกเล่นด้วย ไม่โยนบอลให้ กลับไปโยนกันเองอยู่แค่สองคน

อ้าว…

แล้วนักวิจัยเอาคนที่ถูกตัดออกจากเกมไป “วัดหัว” คือสแกนดูว่าในสมองเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างนั้น

ผลคือ สมองของคนที่เกิดประสบการณ์ Social Pain นั้น มีการตอบสนองคล้ายกับความเจ็บปวดเวลาเราเจ็บตัว เช่นถูกมีดบาด หรือเตะโต๊ะ เป็นต้น

หากดูแต่สแกนสมองเฉยๆ โดยไม่บอกว่าเจ้าตัวกำลังประสบเหตุการณ์อะไร เราอาจบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคนๆนี้กำลัง “เจ็บตัว” หรือ “เจ็บใจ”

นักวิจัยอีกทีมหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ทดลองต่อไปว่า แล้วถ้าอย่างนั้น “ยาแก้ปวด” ล่ะ จะสามารถแก้ “ปวดใจ” ได้ไหม?

พวกเขาแบ่งคนที่มี Social Pain เป็นสองกลุ่ม แล้วทดลองให้กินยาไทลินอล (ยาแก้ปวดพาราเซตามอล) เพื่อดูว่าจะเกิดผลอย่างไรต่อความรู้สึกแย่ๆที่มี

ผลคือ กลุ่มที่กินยาไทลินอลระงับความปวด สามารถลดความเจ็บปวดทางจิตใจได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน ซึ่งคอนเฟิร์มอีกครั้งด้วยผลการสแกนสมอง ที่วัดค่าความเจ็บปวดที่ลดลงในคนกลุ่มนี้

ข้อมูลเหล่านี้บอกเราว่า สำหรับมนุษย์ การเจ็บตัวกับเจ็บใจ “ชอกช้ำ” คล้ายๆกัน ทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดขึ้นเพราะกระบวนการเจ็บของมนุษย์มีส่วนร่วมกัน ยาที่ใช้บล็อคจึงมีผลทั้งความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ

หนำซ้ำ “เจ็บใจ” อาจจะแย่กว่า “เจ็บตัว” ด้วยซ้ำไป คุณผู้อ่านลองนึกถึงความเจ็บใจที่เคยเกิดขึ้นในอดีตสิครับ (เช่นคนรักเก่าที่ถูกเพื่อนสนิทแย่งไป…โอยยย) จะผ่านไปนานมากแล้วเรายังรู้สึกเจ็บเหมือนเดิม  แต่เวลาเรานึกถึงตอนมีดบาดภายหลัง เรากลับรู้สึกเฉยๆไม่ยักเจ็บ

 

ว้าว…

 

ฝากข้อมูลเชิงบริหารก่อนจาก แล้ววิธีรับมือกับ Social Pain แบบไม่ต้องกินยาทำอย่างไรได้บ้าง? ผมขอแชร์โมเดล S.A.F.E.R. ซึ่งประยุกต์จากข้อคิดต่างๆเชิง Brain-Based Leadership

 

S.A.F.E.R. คือวิธีลดสิ่งที่สมอง ‘กลัว’ ให้น้อยลง

  • S คือ Status สมองมนุษย์วัด Pain จากสถานะของตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นรอบตัว เวลาเรารู้สึกสูงกว่า เรารู้สึกดี เวลาเรารู้สึกต่ำกว่า เรารู้สึกแย่ ดังนั้นหัดมองคนที่มีโอกาสน้อยกว่าเราด้วย อย่ามองแค่อินฟลูฯอย่างเดียว
  • A คือ Autonomy สมองมนุษย์ต้องการสิทธิในการเลือก หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก สมองจะต่อต้าน เตือนตัวเองเสมอว่าทุกสถานการณ์มีตัวเลือกที่เรา(ยัง)มองไม่เห็น
  • F คือ Fairness สมองมนุษย์ตอบสนองต่อความยุติธรรม หากมีอะไรที่ไม่แฟร์ ขนาดไม่ใช่เรื่องของเรา เรายังรู้สึกเจ็บปวด บางครั้งจึงต้องหยุดเสพข่าวคนอื่นแล้วหันมาสนในตัวเองบ้าง
  • E คือ Expected สมองมนุษย์ชอบรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่รู้หรือไม่แน่ใจ สมองไม่ชอบ แผนประเทศไม่ชัดเจนไม่เป็นไร แผนตัวเราเองชัดเจนหรือยัง
  • R คือ Relatedness สมองมนุษย์วางใจคนที่เป็นพวกเดียวกันมากกว่าคนที่ต่างพวก เราคือค่าเฉลี่ยของคนใกล้ตัวที่สุดห้าคน คุณเลือกดีหรือยังว่าห้าคนนั้นควรเป็นใคร

หากเราเข้าใจการทำงานของสมอง อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลความเจ็บปวดทางใจได้ดีขึ้น ทั้งของตัวเองและเผื่อแผ่ถึงคนรอบข้าง

หรือไม่ เตรียมพาราฯไว้เยอะๆ ก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน อย่ากินเกินคำแนะนำทางแพทย์ก็แล้วกันครับ!

Ready to start your Leadership Journey?