หา 'ความสุข' ด้วยการให้ 'ความรู้'

     ถ้าเชื่อว่า รากเหง้าของความทุกข์คือความไม่รู้ การช่วยให้คนอื่นมีความรู้ จึงเท่ากับเป็นการช่วยดับทุกข์ และเมื่อเห็นคนอื่นหมดทุกข์ เราก็จะมีความสุขไปด้วย

     หนึ่งในความสุขที่เราในฐานะผู้นำจะทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้นำครอบครัว ผู้นำในกลุ่มเพื่อน หรือผู้นำในองค์กร คือความสุขที่ได้ช่วยให้คนอื่นพ้นจากความไม่รู้ ดังนั้น ถ้าเรามีความรู้และมีประสบการณ์ในสิ่งที่คนอื่นไม่มี เราควรถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้

แต่การจะสร้างความสุขด้วยการให้ความรู้แก่คนอื่นนั้น จะต้องมีทัศคนติ 3 ข้อนี้ คือ

1.ต้องเชื่อว่าความรู้ที่เรามีจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น เราต้องมั่นใจในความรู้และประสบการณ์ของเรา อย่าคิดว่าความรู้แค่นี้จะไปแนะนำใครได้ หรืออย่าคิดว่าเราอายุน้อยกว่า ใครจะฟัง อายุไม่เกี่ยว มันขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ ถ้าเรามีมากกว่า ก็ควรช่วยเหลือด้วยการถ่ายทอดให้เขารู้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันสมัย และหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

2.ต้องอยากเห็นความสำเร็จของคนอื่น ถ้าเรามีความรู้สึกแบบนี้ เราจะถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำด้วยความกระตือรือร้น กล้าแสดงความคิดเห็น ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สร้างบรรยากาศที่เปิดเผยด้วยข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่แนะนำเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความไว้วางในซึ่งกันและกัน

3.ต้องเชื่อว่าอุปสรรคที่จะเจอคือความท้าทายที่อยากเอาชนะให้ได้ อย่ากลัวที่จะเจอกับปัญหาในระหว่างการให้ความรู้ ต้องคิดว่ายังไงก็ต้องเจออยู่แล้ว ดังนั้นควรเอาพลังงานไปคิดแก้ปัญหา ดีกว่าไปนั่งกลัวปัญหา เพราะถ้าแก้ปัญหาได้ ก็จะยิ่งมั่นใจในวิธีการของเรามากขึ้น ต้องคิดว่า การได้มีโอกาสแก้ปัญหา คือความท้าทายที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มี ให้คิดว่าตอนนี้เราเหมือนนักปีนเขา เป้าหมายของเราอยู่บนยอดเขา การขึ้นเขามันไม่ง่ายเหมือนเดินบนถนน ดังนั้นเราต้องรู้อยู่แล้วว่า จะเจออะไรบ้าง ถ้าเราเป็นคนที่ใจไม่สู้ พอไต่เขาขึ้นไปนิดเดียว เจอทางชัน ก็ถอยแล้ว แบบนี้เค้าเรียกว่าพวก คือ “พวกใจเสาะ” เป็นพวกไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ขาดความทะเยอทะยาน ขาดแรงจูงใจที่จะทำภารกิจให้ประสบความ สำเร็จ แต่ก็จะมีนักปีนเขาบางประเภท ที่ปีนขึ้นไปได้ซักพักนึงแล้ว แต่พอเริ่มเหนื่อย เริ่มล้า เริ่มหิว ก็จะเริ่มถอดใจ จริง ๆ แล้ว นักปีนเขากลุ่มนี้ แซงพวกกลุ่มแรกไปแล้ว แต่ไม่ไปต่อ เพราะเมื่อเจออุปสรรคที่ยากขึ้น ก็เริ่มท้อ เริ่มมองหาพื้นที่ราบ เพื่อที่จะหยุดตั้งแคมป์ แล้วก็พอใจที่จะชมวิวอยู่ตรงนั้นพวกนี้คือ “พวกไปไม่สุด” ส่วนนักปีนเขากลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่สนุกกับความท้าทายระหว่างทาง มองว่า ยิ่งยากเท่าไร ยิ่งภูมิใจมากเท่านั้น คนกลุ่มนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาไปทีละขั้น จนถึงยอดเขา และได้มองเห็นวิวที่สวยที่สุด ซึ่งคนกลุ่มอื่นไม่มีโอกาสได้เห็น คนกลุ่มนี้เราเรียกว่า “นักปีนเขาตัวจริง” ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง มีแรงจูงใจในตัวเอง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน

     ทัศนคติ 3 ข้อนี้แหละครับที่จะทำให้เราถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ไม่รู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากใครกำลังมองหาวิธีการสร้างความสุขให้กับตัวเองอยู่ “การหาความสุขด้วยการให้ความรู้” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

ดร.จักรพันธ์ จันทรัศมี

Consulting Partner

สลิงชอท กรุ๊ป

 

Ready to start your Leadership Journey?