อยู่ในองค์กรอย่างพี่อย่างน้อง ดีจริงหรือ?

อยู่ในองค์กรอย่างพี่อย่างน้อง ดีจริงหรือ?

 

“ที่นี่ ผมไม่ต้องการให้เราอยู่กันอย่างครอบครัว แต่อยากให้เราอยู่อย่างทีมฟุตบอลอาชีพ…” ซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของไทยประกาศกลางที่ประชุม

“นักกีฬามีหน้าที่ทำผลงานให้ดีที่สุด สโมสรมีหน้าที่ดูแลจัดการภาพรวม ส่วนผู้จัดการทีมคือผม มีหน้าที่วางแผนและทำทีมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สู้คู่แข่งขันได้”

“ใครไม่ทำหน้าที่ตนเองก็ต้องออกไป เหมือนนักกีฬาย้ายทีมตอนจบฤดูกาล หรือผู้จัดการทีมที่ลาออกหากทีมไม่ประสบความสำเร็จ” ท่านสรุปอย่างเฉียบขาด

Dr. Laurie Kramer แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ทำโครงการชื่อ ‘More Fun with Sisters and Brothers’ สอนวิธีให้เด็กอยู่ร่วมกับพี่หรือน้องของตัวเองอย่างสนุกและผาสุข เช่น แนะนำกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ สอนให้หาทางออกอย่างลงตัว เรียนกลยุทธ์การควบคุมอารมณ์ตัวเองและโน้วน้าวพี่น้อง

 

คุณผู้อ่านบางท่าน (ที่ยังไม่มีลูก) อาจสงสัยว่า ทำไมต้องมีโปรแกรมนี้? พี่กับน้องไม่ได้เล่นกันด้วยดีอยู่แล้วตามธรรมชาติหรือ?

ใครเป็นคุณพ่อคุณแม่ลูกสองหรือสามหรือสี่คงหัวเราะขำ เพราะพวกเราตระหนักจากประสบการณ์ว่ามันไม่จริงเสมอไป หลายครั้งพ่อแม่ปวดกบาลก็เพราะเจ้าเด็กสองคนทะเลาะกันนี่แหละ บางครั้งอดสังเกตไม่ได้ว่าเล่นกับเพื่อนดูจะเข้ากันได้ดีกว่าพี่น้องเล่นกันเองเสียอีก

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พี่และน้องทะเลาะกันนั้น เป็นเพราะลึกๆทั้งคู่รู้ว่าการเป็นพี่เป็นน้องคือ ‘ของตาย’ “พี่น้องจึงไม่ต้องกังวลถึงมารยาทหรือการควบคุมตัวเอง จัดหนักได้เต็มที่ ไม่เหมือนเพื่อนซึ่งต้องเป็นห่วงว่าเค้าจะรับเข้ากลุ่มหรือเปล่าหากเราทำตัวแย่” นักวิจัยชาวอเมริกันกล่าว

 

งานวิจัยโดย Dr. Ganie Dehart แห่ง SUNY พบว่าเด็กแกล้งและทะเลาะกับพี่น้องตัวเองมากกว่ายามเล่นกับเพื่อนถึง 7 เท่า!

 

“ผมไม่ต้องการให้เราทำงานเหมือนครอบครัว เพราะธุรกิจไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบนั้น หากคุณไม่ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดี ไม่มีผลงานสร้างประโยชน์กับองค์กร ก็ไม่ควรได้รับเงินเดือนได้รับการเลี้ยงดูเพียงเพราะ ‘เป็นครอบครัวเดียวกัน’”

 

ข้อคิดสำหรับผู้นำ

 

  1. การอยู่อย่างครอบครัวอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เป็นไปได้ไหมว่าเจ้าความรู้สึกว่าองค์กร ‘เหมือนบ้าน’ อาจทำให้คนของคุณปล่อยปละหน้าที่ อยู่บ้านถอดถุงเท้ากองได้ กินข้าวก็แช่จานไว้เดี๋ยวแม่ล้างให้ นั่งเล่นเกมส์ในชุดนอนทั้งวันเพราะนี่บ้านเราเองไม่ต้องแคร์ใคร องค์กรอยากให้พนักงานอยู่ร่วมกันอย่างนั้นจริงหรือ?

 

  1. ค่าสุทธิของการอยู่แบบพี่น้อง คุณผู้อ่านหลายคนอาจแย้งว่า “แต่ตัวเราโตมาแบบมีพี่น้องกลับว่าดีนะ ทะเลาะกันบ้างอะไรบ้าง สุดท้ายก็รักกันดี” งานวิจัยบอกว่าควรใช้วิธีดูเป็นค่าสุทธิ นำประสบการณ์ดีๆที่มีร่วมกัน เช่นการไปเที่ยวด้วยกัน การเล่านิทานสู่กัน การปกป้องซึ่งกันและกัน มาหักลบด้วยประสบกาณ์แย่ๆ เช่นการทะเลาะกัน ยืมตังค์แล้วไม่คืน การอยู่เป็นครอบครัวของคุณยังมี Net Positive หรือเปล่า

 

  1. หัวใจอยู่ที่รายละเอียด การอยู่แบบทีมกีฬานั้นมีรางวัลบทลงโทษเพื่อกระตุ้นจูงใจให้คนของคุณไม่เฉื่อยก็จริง แต่ข้อเสียคือองค์กรอาจจะมีแต่สมองส่วนหน้าแห่งเหตุผลโดยขาดสมองส่วนหลังแห่งอารมณ์ การถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างพี่น้องอาจไม่มี สำนึกรับผิดชอบด้วยหัวใจอาจไม่เกิด งั้นผู้นำลองหาวิธีที่ทำให้ได้ทั้งสองทาง ทำอย่างไรให้คนของคุณมีกฎกติกาการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่ดี และเป็นองค์กรที่มีความรักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ ผูกพันเหมือนพี่น้องคลานตามกันมา

องค์กรของคุณผู้อ่านล่ะครับ เหมาะที่จะอยู่กันอย่างพี่อย่างน้องหรือเปล่า?

Ready to start your Leadership Journey?