เปลี่ยน ‘ขาดทุน’ ให้เป็น /ลงทุน/

การลดคนในช่วงวิกฤต ถือการแก้ปัญหาระยะสั้น หากต้องขาดทุนอยู่แล้ว จะเปลี่ยน การขาดทุนให้เป็นการลงทุนอย่างไร

 

แม้ที่ผ่านมาจะเริ่มผ่อนปรนให้หลายกิจการกลับมาเปิดดำเนินการภายใต้กรอบการป้องกันโควิด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรักษาระยะห่าง ปรับเวลาเคอร์ฟิว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างมันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

 

ดิฉันมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของกิจการหลายท่านในช่วงนี้ ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบทางธุรกิจมากน้อยต่างกันไป แม้จะไม่ได้ยอดขายเหมือนเดิม แถมต้องเปิดกิจการแบบขาดทุนด้วยซ้ำ แต่ก็มีเจ้าของกิจการจำนวนมากที่วิเคราะห์สถานการณ์แบบไม่เข้าข้างตัวเอง และยังคงเห็นอนาคตอันสดใสหลังวิกฤต จึงเลือกที่จะดำเนินกิจการต่อไป ตอนนี้ขอแค่มีรายได้เข้ามาเพื่อหล่อเลี้ยงพนักงานที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว   

 

แน่นอนการลดคนในช่วงวิกฤต คือการแก้ปัญหาระยะสั้น ข้อคิดที่น่าสนใจคือ หากต้องขาดทุนอยู่แล้ว จะเปลี่ยน การขาดทุนให้เป็นการลงทุนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเตรียมคน ปรับทักษะ เตรียมกลยุทธ์ เตรียม Business Model ใหม่ ที่ไม่ต้องนั่งสวดมนต์รอให้สงครามเชื้อโรคครั้งนี้จบลง ก็พร้อมลุยเพราะมีคนและรูปแบบองค์กรใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม  

สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้หากมีคนที่ “ใช่”

 

  1. ในวิกฤต Mindset มาก่อน Skill

การเตรียมคนให้พร้อมรับและลุยหลังวิกฤต ทัศนคติสําคัญกว่าทุกสิ่ง ทุกๆ วิกฤตที่เกิดขึ้นจะมีคนรอดและคนไม่รอด จะมีคนเห็นโอกาสและเห็นอุปสรรค ทั้งหมดเริ่มต้นจากทัศนคติและมุมมอง (Mindset) ดังน้ันองค์กรต้องเลือกคนที่มีมุมมองเฉกเช่นนักรบ พร้อมสู้ไปสู่ชัยชนะด้วยกัน เราอาจไม่รู้หรอกว่ามันจะเวิร์คไหม แต่คนมีมุมมองพร้อมเปลี่ยน พร้อมลุยไปด้วยกัน ไม่ใช่คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ วันๆ ร้องหาแต่ความชัดเจน และภาวนาให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม 

 

เชื่อหรือไม่ในช่วงวิกฤตนี้ กําลังมีคนไทยกว่า 7 ล้านคนที่ตกงาน มีหลายกิจการต้องปิดตัว มีเจ้าของกิจการอีกหลายคนที่บอบช้ำจากการยอมขาดทุนเพื่อเลี้ยงลูกน้องให้ได้นานที่สุด แต่ก็มีเจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อยที่มาระบายความปวดใจให้ฟังถึงคนอีกจํานวนหนึ่งที่ยังคงมีงานทำและยังมองไม่เห็นว่าตัวเองโชคดี กลับน้อยเนื้อต่ำใจ และโพสต์ลงโซเชียลกับความรู้สึกไม่โอเคที่บริษัทมีนโยบายลดค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่บริษัทตัวเองกําลังขาดทุน นี่แหละที่เรียกว่า Mindset

 

  1. “คนที่ใช่” = สําหรับอนาคต

 “คนที่ใช่” คือคนที่ใช้โอกาสจากวิกฤตนี้ ด้วยการสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับตัวเอง ผู้นําองค์กรหลายคนเจอเพชรเม็ดงามก็ช่วงวิกฤตนี่แหละ ได้โอกาสมองเห็นศักยภาพของพนักงานบางคนได้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยอยู่ในสายตา วิกฤตเป็นเวลาที่พนักงานต้องใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด ในขณะที่องค์กรต้องคัดกรองพนักงานที่ใช่สําหรับอนาคตเช่นกัน มีผู้นำองค์กรหลายคนที่สงสัยมานานว่าพนักงานคนนี้ใช่หรือไม่ใช่ ในช่วงที่กิจการปกติดี องค์กรก็ปิดตาข้างหนึ่ง โดยเลือกมองแต่ข้อดีของคนๆ นี้ จึงอยู่รอดมาได้  วันนี้จะเป็นโอกาสให้องค์กรตัดสินใจง่ายขึ้นว่าข้อดีที่พยายามหามานานมันเหมาะกับอดีตหรืออนาคตขององค์กรกันแน่   

 

  1. ทักษะแบบไหนที่ต้องการสำหรับอนาคต

เรื่อง Reskill และ Upskill เป็นอีกคำฮิตคล้าย ๆ New Normal หลายองค์กรรีบหาทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล สิ่งที่น่ากลับมามองคือจะ Up หรือ Re ทักษะใดนั้น อย่าเพียงทําตามกระแส ให้กลับมาดู Business Model และ Strategy เป็นหลักว่าอนาคตองค์กรจะไปทางไหน ต้องการงานแบบไหน ทักษะแบบไหน และปัจจุบันเรามีคนที่มีทักษะเหล่านี้หรือไม่ จึงค่อยลงทุน Reskill หรือ Upskill ทักษะเหล่านี้

Ready to start your Leadership Journey?