Internet of Everything

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมและครอบครัวเดินทางไปร่วมงานรับปริญญาของลูกสาวที่ Babson College เมืองบอสตัน มลรัฐแมชซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ถึงแม้ผมจะเดินทางบ่อย แต่ครั้งนี้ถือว่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะได้รู้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ 

 

คราวนี้ผมเดินทางโดยสายการบินของตะวันออกกลางแห่งหนึ่ง แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในเมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่นี่ทางการอเมริกาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศของเขา สามารถผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองได้เลย โดยไม่ต้องไปทำเมื่อถึงจุดหมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่ออำนวยความสะดวก อีกส่วนก็เป็นการลดความแออัดที่สนามบินปลายทางด้วย

 

ผมและครอบครัวเข้าคิวตามปกติเพื่อตรวจลงตราพาสปอร์ต ไม่มีช่องทางพิเศษใดๆ สำหรับ VIP หรือผู้โดยสารที่เดินทางชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่ง ทุกคนเท่ากันหมดเมื่อถึงคิว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นคนอเมริกัน ขอพาสปอร์ตไปทั้งครอบครัว แต่ยังไม่ทันได้เปิดดู จากนั้นขอให้พวกเราถ่ายรูปทีละคน เมื่อกล้องจับภาพได้ ก็สแกนหาข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ทันที ระบบสามารถระบุได้เลยว่าเราคือใคร ชื่อเรียงเสียงใด เข้าประเทศมากี่ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดมาเมื่อไรกับใคร ฯลฯ เป็นเทคโนโลยีการจดจำหน้า (Facial Recognition) เหมือนที่เฟสบุ๊คใช้ในการจำเราและเพื่อนๆ เมื่อ upload รูปภาพขึ้นไป ระบบจะถามทันทีว่าอยาก Tag บุคคลที่อยู่ในภาพด้วยหรือไม่โดยระบุชื่อได้ถูกต้องเกือบ 100%

 

หากทุกอย่างปกติดี เจ้าหน้าที่จะหยิบพาสปอร์ตตามชื่อที่ระบบระบุขึ้นมาประทับตรา เสร็จแล้วก็นำบัตรโดยสาร (Boarding Pass) ไปสแกนที่อุปกรณ์อีกตัวหนึ่ง ไม่นานนักกระเป๋าเดินทางของเราซึ่งรอต่อเครื่องอยู่บริเวณที่ขนถ่ายสัมภาระ (Cargo Area) ในสนามบินด้านล่าง ก็ปรากฏขึ้นบนหน้าจอมอนิเตอร์ เจ้าหน้าที่ถามว่าใช่กระเป๋าของคุณไหม มีอะไรบรรจุอยู่ในนั้นบ้าง และหากจำเป็นต้องมีการเปิดกระเป๋า ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านล่างทำการเปิดแล้วให้เรายืนดูเป็นสักขีพยานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องกระดิกตัวไปไหนหรือเดินไปที่กระเป๋าให้เสียเวลา

 

ตอนที่ลูกสาวเรียนจบ เธอก็เริ่มสมัครงานในอเมริกาเพราะอยากลองหาประสบการณ์สักปีสองปี ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท การเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน(Resume) ที่นี่ นิยมเขียนสั้นๆ เพียงแค่ 1 หน้า แล้วก็มีจดหมายนำส่ง (Cover Letter) อีกหนึ่งแผ่น เป็นอันเสร็จพิธี ไม่ต้องอารัมภบทนาน

 

เอกสารสมัครงานจะถูกคัดกรอง (Screen) โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการเขียนต้องมีเทคนิคพอสมควร เพราะถ้าเขียนวกไปวนมาหรือเขียนแบบแกรมม่าผิดๆ ถูกๆ แล้วคอมพิวเตอร์อ่านไม่รู้เรื่อง เป็นอันว่าใบสมัครนั้นถูกคัดทิ้งทันที

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อระบบอ่านข้อมูลของผู้สมัครแล้ว ก็จะไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในแหล่งข้อมูลสาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Tweeter และ LinkedIn เป็นต้น เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ระบุในใบสมัครกับข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป ว่าตรงหรือต่างกัน และมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุในใบสมัครอีกหรือไม่

 

เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้น่ากลัวมาก สุดท้ายกลายเป็นว่าเครื่องคอมพิวเตอร์รู้จักตัวตนของเรามากกว่าเรารู้จักตัวเองเสียอีก ใครไปทำอะไรไว้ที่ไหน โพสต์เรื่องอะไรไว้ หรือมีใครโพสต์ถึงเราว่าอย่างไร ระบบคัดกรองอัจฉริยะ หาเจอหมด!

 

จากนั้นหากใบสมัครผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น ก็จะมีอีเมลส่งออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง เพื่อนัดหมายให้สัมภาษณ์กับหุ่นยนต์ (Robot) ผ่านทางช่องทางอินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเดินทางหรือไปเจอตัวให้มันวุ่นวาย

 

การสัมภาษณ์เบื้องต้นใช้เวลา 15 นาที เป็นการพูดคุยระหว่างคนกับหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ ระหว่างการสัมภาษณ์นอกจากระบบจะวิเคราะห์คำตอบของผู้สมัครแล้ว ยังตรวจสอบคุณสมบัติอื่นๆ ไปในตัวด้วย เช่น บุคลิก การแต่งกาย หน้าตา ภาษาท่าทาง ฯลฯ

 

หลังสัมภาษณ์เสร็จ ระบบจะแจ้งผลให้ทราบทันทีว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และมีข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ให้ด้วยว่าระหว่างการสนทนา ตรงไหนที่ทำได้ดีและตรงไหนที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม เด็กๆ ชอบมาก เพราะแม้จะไม่ได้ไปต่อ ก็ยังมีโอกาสได้เรียนรู้เพื่อนำมาปรับปรุงสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย

 

ถ้าผ่านรอบนี้ไปได้ ถึงจะมีโอกาสเจอคนจริงๆ แต่ถ้าตกรอบคัดเลือกนี้ ก็ได้แค่คุยกับเครื่องเท่านั้น

 

ในวันรับปริญญา ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จะมีบุคคลที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมาให้โอวาทกับบัณฑิตใหม่ เรียกว่า Commencement Speaker คราวนี้ Babson College เชิญ Steve Case อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท AOL ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตและอีเมลรายแรกๆ ของโลก ปัจจุบันเป็นนักลงทุนในธุรกิจ Start Up และนักเขียนของ The New York Times ระดับ Best Seller ผลงานล่าสุดคือ The Third Wave : An Entrepreneur’s Vision of the Future

 

Steve บอกกับบัณฑิตใหม่ว่า ในโลกของเทคโนโลยี ตอนนี้กำลังเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3

 

คลื่นลูกที่ 1 คือ Internet ที่เชื่อมต่อชาวโลกให้ถึงกัน ทำให้โลกใบนี้เล็กลงเหลือเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

 

คลื่นลูกที่ 2 คือยุคแห่ง Software และ Platform อย่างเช่น Facebook, Instagram, LINE และ App ต่าง ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้น

 

คลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีในชื่อ IOT (Internet of Things) ซึ่ง Steve Case มีความเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อไปเป็น Internet of Everything น่าจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้มากกว่า ในยุคนี้ Internet จะเข้ามามีบทบาทสูงมากกับชีวิตมนุษย์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

หน้าที่ของบัณฑิตใหม่ (รวมทั้งพวกเราทุกคน) ในยุคนี้คือ

 

รับรู้ (Aware) ว่าแนวโน้มที่ว่านี้มาถึงแล้วและจะมีผลต่อชีวิตของพวกเราโดยตรงด้วย จะได้ไม่ตั้งตนอยู่ในความประมาทและประหลาดใจเมื่อถูกกระทบ

 

เรียนรู้ (Understand) ทำความเข้าใจ ขวนขวายหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง ฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถให้พร้อม

ใช้มัน (Utilize) แทนที่จะตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี จงทำตัวเป็นเจ้านายของมัน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่ดีขึ้น

 

หากทำ 3 อย่างนี้ให้ถึงพร้อม ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งงานหรือแทนที่มนุษย์อีกต่อไป มันเป็นเพื่อนของเรา ไม่ใช่เป็นศัตรู เพียงแต่ต้องอยู่ให้เป็น!

Ready to start your Leadership Journey?