เด็กหลังห้อง

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา การพัฒนาผู้นำในรูปแบบ Executive Forum ถือว่ามาแรงเลยทีเดียว การเชิญผู้บริหารและผู้มีเชื่อเสียงที่ประสบความเร็จในสาขาต่าง ๆ มาเล่าประสบการณ์จริงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แชร์เทคนิคการบริหารแบบ  Simple Practical Effective ภายในเวลาครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น

 

เมื่อเทียบกับผลตอบรับที่ได้จากผู้เข้าร่วมโครงการที่ต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่าครั้งถัดไปจะได้ฟังเรื่องเล่าดี ๆ จากใคร และต่างมารอฟังอย่างใจจดใจจ่อตั้งแต่งานยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ เอาเป็นว่าผู้จัดถึงกับอมยิ้มกับเรทติ้งที่พุ่งกระฉูดของโครงการแบบนี้เลยทีเดียว

 

ในปีนี้ดิฉันได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์เจอะลึกผู้บริหารและคนดังหลายต่อหลายท่าน อาทิ นักร้องนักดนตรีอมตะอย่างคุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา, นักปั้นซุป’สตาร์ระดับประเทศ คุณเอ ศุภชัย ศรีวิจิต, นักเขียนระดับแนวหน้า คุณศุ บุญเลี้ยง, เจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน ดร. สมชาย เหล่าสายเชื้อ, ผู้กำกับร้อยล้าน คุณยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ นักเขียนระดับแนวหน้าของประเทศไทย คุณสรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา หนุ่มเมืองจันทร์ และอีกหลาย ๆ ท่าน บอกตรง ๆ ถือว่าโชคดีเหลือเกินที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับผู้เข้าร่วมโครงการ

 

ดิฉันตั้งข้อสังเกตข้อหนึ่งว่าบุคคลเหล่านี้สมัยเป็นนักเรียน พวกเขาอาจไม่ได้เป็นนักเรียนแถวหน้าประเภทจบเกรด  4.0 เกียรตินิยมเหรียญทองอะไรทำนองนั้น ดูแล้วออกจะเป็นแนวเด็กหลังห้องด้วยซ้ำ ทำให้ดิฉันย้อนคิดไปถึงชีวิตสมัยเป็นนักเรียน หากใครเป็นเด็กเก่งสังเกตได้ไม่ยาก เด็กกลุ่มนี้มักจองที่นั่งแถวหน้า ๆ ใครเป็นหัวหน้าห้องก็มักจะนั่งอยู่หน้าสุด หัวหน้ากองลูกเสือก็ต้องยืนถือไม้พลองยืนอยู่คนแรกของแถว ส่วนเด็กเกเร ก็มักจับจองที่นั่งอยู่แถว ๆ หลังห้อง 

 

พอเข้าสู่ชีวิตทำงาน เอ๊ะ มันดูสลับกันยังไงชอบกล!!  โลกของที่ทำงานเรามักเห็นคนตำแหน่งใหญ่สุดนั่งอยู่ด้านหลังสุด หากมีอบรมสัมมนา จะมีการจัดที่นั่งแถวพิเศษไว้หลังห้องเผื่อให้ผู้บริหารเข้ามานั่งสังเกตการณ์ หากเป็นผู้เข้าอบรมสัมมนาที่ขยันมาถึงก่อนเวลาก็จะรีบเอากระเป๋าไปวางจองเก้าอี้แถวหลัง ๆ จนระยะหลัง ๆ ดิฉันต้องแจ้งผู้จัดให้จัดจำนวนเก้าอี้ให้น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าสัมมนา หากใครมาที่หลังก็ได้เสริมเก้าอี้ด้านหลังห้อง แทนที่จะมายืนเก้ ๆ กัง ๆ หาที่นั่งแล้วก็ต้องจิตตกลงเอยด้วยการเดินมานั่งแถวหน้าถือว่าเป็นการลงโทษผู้เข้าสายโดยปริยาย   

 

ข้อคิดสำหรับการบริหารองค์กรสมัยนี้ เด็กหน้าห้องอาจหมายถึงกลุ่ม Talent กลุ่มคลื่นลูกใหม่ไฟแรง อันเป็นความหวังใหม่ขององค์กร  องค์กรควรสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้พวกเขาขยันตั้งใจใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา กล้าคิด กล้าทำ กล้ายกมือถาม แสดงความคิดเห็นเฉกเช่นเดียวกับเด็กหน้าห้อง

 

ในขณะเดียวกันหากที่นั่งหลังห้องคือที่ของคนช่างฝัน ผู้กระหายการเรียนรู้รสชาติชีวิต และสร้างความสำเร็จด้วยตนเอง องค์กรก็มิควรมองข้ามและอย่าเพิ่งรีบตัดสินพนักงานท้ายแถว หากจัดที่จัดงานให้ถูกทาง ยังมีหลายมิติให้เขาเปิดใจเรียนรู้และเป็นผู้สร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เฉกเช่นเดียวกับเด็กแถวหน้า

Ready to start your Leadership Journey?