Handling ‘NoNo’

What should we do with NoNo(s)? “อาจารย์ครับ ทำไงกับโนโนดีครับ?”

ไม่ได้สอนเรื่อง Our Iceberg Is Melting ของ ดร. จอห์น คอตเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาเสียนาน วันก่อนมีโอกาสพูดถึงเลยเจอคำถามยอดฮิตนี้อีกครั้ง แสดงว่าจะคนไทยหรือคนฝรั่งก็มีโนโนเหมือนกัน

เล่าสั้นๆว่าเจ้าโนโนเป็นหนึ่งในตัวละครของเหล่าเพนกวิน มีนิสัยดั่งชื่อ คือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทุกชนิดด้วยวาจาและพฤติกรรม “No No” อะไรๆก็ไม่เอา อะไรๆก็ไม่ได้ มักแผลงฤทธิ์ในสเต็ปที่ 5 Empower Others to Act เพราะจะทำให้เราไม่สามารถขับเคลื่อนมวลชนได้ แถมทุกวันนี้มี Social Media เป็นอาวุธใหม่ ปล่อยข่าวปล่อยคลิปไวรัลได้ทุกวัน

งั้นวันนี้ขอย้อนแชร์ข้อคิดและวิธีรับมือกับโนโนในองค์กรในมุม Brain-Based Leaders สักนิด

  • เวลาพูดถึงโนโน ความหมายคือคนที่ ‘ต่อต้าน’ การเปลี่ยนแปลง แปลว่าพยายามสร้างสถานการณ์หรือโน้มน้าวผู้อื่นให้เดินสวนกับทิศทางขององค์กร ส่วนคนที่รีรอดูทิศทางลม ยังไม่ถือเป็นโนโน
  • โนโนมักเป็นคนส่วนน้อยในองค์กร ไม่ควรเกิน 10% แปลว่า หากมีคนในองค์กร 100 คน โนโนไม่ควรเกิน 10 คน หากคุณพบว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ในองค์กร “เค้าเป็นโนโนกันทุกคนเลยอาจารย์” อาจต้องมานอนพิจารณาเสียใหม่ว่าใครกันแน่คือโนโน
  • การมีโนโนสักคนสองคนจริงแล้วไม่เป็นไร แต่สมองส่วนหลังของเราอ่อนไหวกับ ‘ออร่า’ ทางลบของโนโน ผู้นำต้องใช้ทุกอณูของสมองส่วนหน้าที่มีในการยับยั้งสมองส่วนหลังไม่ให้ต่อล้อต่อเถียงด้วย

ต่อด้วยวิธีรับมือกับโนโนเลยละกัน สักสองสามแนวคิดนะครับ
Situation Modification (เริ่มจากมิตรก่อน)

เตือนตัวเองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของมวลชน แปลว่าคนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเราทุกคน แค่ ‘มวลมหาประชาองค์กร’ หรือ 70% เอากับเราด้วยเป็นพอ ดังนั้นหากโนโนบางคนสร้างความยุ่งเหยิงให้กับชีวิตคุณ งั้นเริ่มจากคนอื่นที่รู้สึกบวกกับการเปลี่ยนแปลงก่อนได้ไหม? หากคุณโน้มน้าวสมองคนส่วนมากได้ คนส่วนน้อยจะต้องตัดสินใจเองว่าเขาจะทำอย่างไรกับชีวิต

 Neutralization (ลด Impact ที่เกิดขึ้นจากโนโน)

หาวิธีทำให้โนโนไม่มีเวลายุ่งกับคนอื่น อย่าลืมว่าเราไม่ได้รังเกียจโนโน แต่สิ่งที่เราเกรงคือการ ‘ล้อบบี้’ ของโนโนที่ทำให้มวลชนแห่งการเปลี่ยนแปลงของเราเกิดขึ้นยาก Change Agent หลายคนเสียเวลาไปกับการพยายาม ‘ขจัดโนโน’ ออกไปจนตัวตายก็มี มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำสิ่งนี้ได้ ผมเคยเห็นตั้งแต่วิธีตรงไปตรงมาเช่นการ ‘คุย’ กับนายของโนโน การสร้าง ‘โครงการเร่งด่วน’ ต่างๆที่แยกให้โนโนไปทำ แม้กระทั่งการส่งจระเข้ขวางคลองไปศึกษาดูงานอยู่รอบๆโลก

Reappraisal (โนโนเปลี่ยนได้)

แต่วิธีที่ดีที่สุดในมุมผมคือการเปิดใจคุยกับโนโนนั่นแหละ พยายามเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร โนโนไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เป็นทัศนคติที่เปลี่ยนได้เหมือนสีเสื้อ จุดแข็งของโนโนคือเสียงที่ดัง ภาวะผู้นำ และความสามารถในการโน้มน้าว ดังนั้นหากคุณหาวิธีเปลี่ยนทัศนคติเขาได้ คุณจะได้มหามิตรที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการนำการเปลี่ยนแปลงของคุณ และหลายครั้งผมพบว่าไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก แค่ตั้งคำถามว่า 1) เขารู้ตัวหรือไม่ว่าเขาเป็นโนโน? 2) เขาอยากเห็นองค์กรเป็นอย่างไร? และ 3) เขาคิดว่าตนเองสามารถช่วยในส่วนใดได้บ้างเพื่อบรรลุผลลัพธ์นั้น?

สำคัญคือผู้นำอย่าท้อ โนโนก็มีสมอง หากเราหาวิธีเข้าใจสมองของเขาได้ เราย่อมมีวิธีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้ครับ

Ready to start your Leadership Journey?